ทองคำขาขึ้น หลังราคาในประเทศทุบสถิติ 33,050 บาท

13 ต.ค. 2566 | 14:34 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2566 | 14:34 น.

ศูนย์วิจัยทองคำเผย แนวโน้มราคาทองคำยังขาขึ้น หลังราคาในประเทศทุบสถิติที่บาทละ 33.050 บาท แต่ตลาดซื้อขายซบเซา เหตุราคาพุ่งสูง กดดันความต้องการซื้อขาย จับตาราคา Gold Spot ทิศทางเฟด ค่าเงินบาท ไปถึงครึ่งปี67

แรงหนุนจากสงครามอิสราเอล-ฮามาสและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล(บอนด์ยีลด์) สหรัฐปรับลดลง ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นแรง โดยราคาทองคำในตลาดโลก (Gold Spot) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมอยู่ที่ระดับ 1,877.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์จากเดิมอยู่ที่ 1,867.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในประเทศจะไม่สอดคล้องกับราคา Gold Spot มากนัก เพราะต้องขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศด้วย ซึ่งช่วงที่ผ่านมา หลังเงินบาทอ่อนค่าหลุด 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศทรงตัวในระดับสูงและมีโอกาสเคลื่อนไหวในแดนบวกต่อไปตามทิศทางค่าเงินบาท

 

ขณะที่บอนด์ยีลด์ อายุ 10 ปีและสกุลเงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวไร้ทิศทางที่ชัดเจน ส่งผลให้สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธันวาคมยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,888 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยทองคำให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมการเคลื่อนไหวของราคาทองคำปีนี้ ค่อนข้างจะปรับตัวสูงขึ้น(Side way up) โดยราคาทองคำแท่งในประเทศขยับเป็น 33,050 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งเป็นระดับราคาสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ จากระดับราคาประมาณ 29,000 บาทต่อบาททองคำในปี2565 ซึ่งคนที่มีทองคำแท่งในครอบครองน่าจะมีกำไร

ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยทองคำ

อย่างไรก็ตาม สภาพการค้าทองคำไทยปีนี้ แนวโน้มน่าจะซบเซาตลอดทั้งปี ทั้งจากความต้องการซื้อและขายหดตัวอย่างรุนแรงทั้งคู่ สาเหตุอาจจะมาจากราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้น สภาวะเศรษฐกิจโลกที่กดดันเศรษฐกิจทั่วโลก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่อยู่ในระดับสูง กดดันต่ออัตราดอกเบี้ยของไทยและราคาทองคำแท่งในประเทศด้วย

ในแง่การลงทุนในทองคำนั้น จะเห็นว่า การเคลื่อนไหวราคาทองคำช่วง 13 ปีที่ผ่านมา(ตั้งแต่ปี 2553-2566) ราคา Gold Spot ต่ำสุดที่ประมาณ 1,410 ดอลลาร์ต่อออนซ์จนถึงปี 2566 ขยับมาอยู่ที่ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ปี 2565 ราคาสูงสุดอยู่ที่ 2,056 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สะท้อนผลตอบแทนที่เอาชนะอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ยกเว้นปีนี้ที่ดอกเบี้ยสหรัฐขยับขึ้น เห็นได้จากผลกำไรจากการลงทุนในทองคำอยู่ที่ประมาณ 600 ดอลลาร์สหรัฐหรือเพิ่มขึ้นราว 43% เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 3.3% 

ส่วนราคาทองคำแท่งเมื่อปี 2553 อยู่ที่ 20,150 บาทต่อบาททองคำ โดยปีนี้ราคาขยับสูงสุดที่ 33,050 บาท( ณ 20ก.ย.) จะเห็นได้ว่า การลงทุนในทองคำแท่งช่วง 13ปี มีผลตอบแทนอยู่ที่ 12,900 บาทเฉลี่ย 1,000 บาทต่อปี คือ ทำกำไร 5%ต่อปี 

สถิติราคาทองคำในประเทศ ย้อนหลัง 10 ปี

“ช่วง 13ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ อย่างไทยเองดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ขณะผลกำไรจากทองคำ 5%ต่อปี ซึ่งการลงทุนทองคำแท่ง เอาชนะดอกเบี้ยเงินฝากบ้านเราได้ สอดคล้องกับทองคำเป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อ และผลการถือทองคำแท่งสามารถเอาชนะดอกเบี้ยด้วย ส่วนทองคำรูปพรรณอาจจะหักค่ากำเหน็จ ผลกำไรลดลงเล็กน้อย แต่การถือทองคำรูปพรรณนั้น กรณีเหตุการณ์เศรษฐกิจน่ากังวลทองคำก็จะเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง”ดร.พิบูลย์ฤทธิ์กล่าว 

ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยทองคำกล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนทองคำมีข้อดีคือ โอกาสติดดอยใช้เวลาไม่นาน คือ การเฝ้ารอการลงมารับของราคาทองคำนั้นไม่นานนัก อย่างดอยที่แล้ว 32,400 บาทใช้เวลาเพียง 1ปี ซึ่งปีที่แล้วช่วงเกิดเหตุการณ์ในรัสเซียและปีนี้ปรับราคาขึ้นไปและทำกำไรด้วย โดยสถิติที่ผ่านมา ราคาทองคำแท่งไทยขึ้นมาตลอด ในแง่การลงทุนนั้น จึงมักจะมีทองคำถือครองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่ในพอร์ตประมาณ 10% จากอดีตอยู่ที่ 3%เพื่อป้องกันความเสี่ยง 

สิ่งที่น่าสนใจปีนี้คือ การค้าทองคำของเมืองไทยได้รับความสนใจจากตลาดโลก โดยทาง World Gold Council ได้เข้ามาร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT และสมาคมผู้ค้าทองคำ จัดงานประชุม THAILAND GOLD FORUM ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สะท้อนให้เห็นว่า สภาทองคำโลกเห็นสภาวะการค้าทองคำในเมืองไทยน่าสนใจในระดับโลก 

ต่อประเด็น การนำเข้าทองคำของไทยส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของทิศทางเงินบาทให้อ่อนค่านั้น ดร.พิบูลย์ฤทธิ์กล่าวว่า จริงๆการนำเข้าและส่งออกทองคำของไทยจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น ดังนั้นกรณีที่เงินบาทมีความผันผวนอ่อนค่าลง อาจจะไม่ใช่ผลที่เกิดจากการนำเข้าทองคำซะทีเดียว โดยปีนี้ยอมรับว่า ปัจจัยภายนอกมีผลกระทบต่อความผันผวนของเงินบาทที่อ่อนค่า ขณะที่การนำเข้าทองคำมีผลต่อเงินบาทน้อยมาก 

สำหรับช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 พบว่า ปริมาณนำเข้าทองคำของไทยอยู่ที่ 85 ตันและส่งออก 58 ตันเท่านั้น ส่วนตัวเลขทั้งปีจะต้องรออีก 4 เดือน แต่เบื้องต้นพบว่า ปริมาณการนำเข้าและส่งออกลดลงกว่า 50%จากปีก่อน ซึ่งเมืองไทยมีการนำเข้าทองคำ 201ตัน และส่งออก 123 ตัน 

“ช่วงนี้ ราคาทองคำผันผวนค่อนข้างสูงต้องจับตานโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ซึ่งตลาดคาดเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอยู่ระดับ 5.5- 5.75% ซึ่งจะผลักดันสกุลเงินดอลลาร์มีโอกาสจะแข็งค่าและกดดันเงินบาท โดย 3 เดือนจากนี้ไปถึงครึ่งปีหน้า ต้องจับตาค่าเงินบาทและราคา Gold Spot จะฟื้นหรือไม่”ดร.พิบูลย์ฤทธิ์กล่าวทิ้งท้าย