พิษเฟดคงดอกเบี้ยสูง เงินไหลออกบาทยวบ

09 ต.ค. 2566 | 16:25 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2566 | 16:25 น.

บาทอ่อน ผันผวนหนักลำดับต้นๆของเอเซีย กูรูเผยอ่อนค่าแล้ว 6% ค่าผันผวน 9% หลังเผชิญดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง จากเฟดส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยสูงและนาน ค่าทองคำ “จินฮั้วเฮง” ระบุบาทอ่อน ดันส่วนต่างราคาทองคำในประเทศเพิ่ม 2,200 บาท

แม้ค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 5 ตุุลาคม 2566 จะแข็งค่ากลับมายืนเหนือระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ได้ แต่แนวโน้มเงินบาทอาจยังไม่สามารถพลิกกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าจะเห็นปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่า ทั้งเม็ดเงินลงทุนนักลงทุนต่างชาติหรือ การอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากก่อนหน้าดอลลาร์แข็งค่าอย่างต่อเนื่องจนกดให้บาทอ่อนค่าสุดในระบบ 11 เดือนหลุดระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ได้

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (5 ต.ค.) เงินบาทอ่อนค่าและผันผวนอยู่ในอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับภูมิภาค โดยจะเห็นว่า เงินบาทอ่อนค่าลง 6.0%  ติดอันดับ 3 รองจากเงินเยนที่อ่อนค่า 11.2%  ตามด้วยเงินวอน เกาหลีใต้และริงกิต มาเลเซียที่อ่อนค่าเท่ากันที่ 6.7%  ขณะที่เงินหยวนอ่อนค่าลง 5.5%

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

ด้านความผันผวน เงินบาทของไทยเองก็อยู่ในอันดับ 3 ของภูมิภาคเช่นกัน โดยมีค่าความผันผวนที่ 9.0% รองจากเยน 9.8% และวอน 9.5%  ตามมาด้วยเปโซ ฟิลลิปปินส์ที่ผันผวน 6.3% ส่วนริงกิต 5.7% และเงินหยวน 4.9%      

ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคเอเซีย หลักๆ ในปีนี้คือ สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเฟดยังส่งสัญญาณอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ทำให้ตลาดจับตาการประชุมเฟดที่เหลือการประชุมอีก 2 ครั้งในปีนี้ และทิศทางเฟดยังลากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยีลด์)ขยับขึ้นด้วย ทำให้บอนด์ยีลด์ไทยขยับตาม ประกอบกับดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่กนง.ขยับขึ้นมา 5 รอบในปีนี้

การเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลต่างๆ

นอกจากนั้น สกุลเงินหยวนอ่อนค่าจากความกังวลต่อความเปราะบางทางเศรษฐกิจจีนและผลข้างเคียงจากดอลลาร์แข็งค่ากดดันให้ราคาทองคำร่วงลงด้วย และความกังวลต่อปัจจัยพื้นฐานของไทยไม่ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ความแข็งแกร่งของดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงสถานะทางการคลัง เนื่องจากตลาดรอความชัดเจนจากมาตรการแจกเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นปัจจัยในประเทศที่สะท้อนความกังวลต่อการหาแหล่งเงินและแนวโน้มการก่อหนี้ภาครัฐด้วย

“จริงๆแต่ละปัจจัยจะเชื่อมโยงกันในหลายเรื่อง เพราะเป็นธีมของตลาดโลกคือ การดำเนินนโยบายของเฟดลิ้งกับค่าเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์และเงินทุนไหลออก ขณะที่การอ่อนค่าของเงินหยวนก็ลิ้งก์กับค่าเงินเอเชียและไทย โดยมุมมองต่อเงินบาทนั้น ธนาคารกสิกรไทยขยับกรอบเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะสั้นอยู่ที่ 37.55 บาทต่อดอลลาร์” นางสาวกาญจนา กล่าว

อย่างไรก็ตามเมื่อเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ และตลาดรอความชัดเจนเรื่องการหาแหล่งเงินและรายละเอียดเกี่ยวกับ การแจกเงินดิจิทัล ซึ่งภาพที่เห็นคือ เงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) หรือเงินทุนไหลออก โดยมียอดขายสุทธิรวม 313,705 ล้านบาทตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 4 ต.ค.66) แบ่งเป็นขายสุทธิในตลาดพันธบัตร (บอนด์) 151,459 ล้านบาทและขายสุทธิในหุ้น 162,246 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มียอดซื้อสุทธิรวม 249,305 ล้านบาท

นายวรชัย ตั้งสิทธิ์ภักดี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท จินฮั้วเฮง จำกัด กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ถือว่า มีความผันผวนมากเช่นกัน โดยราคาทองคำในประเทศเริ่มต้นปี 2566 ที่ระดับราคา 29,850 บาท ซึ่งช่วงนั้นราคา Spot อยู่ที่ 1,824 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34.6 บาทต่อดอลลาร์

นายวรชัย ตั้งสิทธิ์ภักดี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท จินฮั้วเฮง จำกัด

ขณะที่ราคา Spot ปัจจุบันเทียบเท่าต้นปี แต่เงินบาทที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมากและเร็ว แม้ราคาทองยังเท่าเดิม แต่เงินบาทอ่อนค่าไปกว่า 14.4% จึงเป็นสาเหตุทำให้เห็นว่า ราคาทองคำในประเทศกระโดดขึ้นเยอะ โดยช่วงนี้ราคาทองคำจะอยู่ที่ 32,050 บาทจากต้นปี 29,850 บาท ซึ่งมีส่วนต่างถึง 2,200 บาทมาจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

ส่วนราคาทองคำเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 33,050 บาท เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ราคา Spot อยู่ที่ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนค่าเงินบาทอยู่ที่ 36.28 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาทองคำในในไทยสูงสุดในประวัติศาสตร์ราคาในไทย ซึ่งในแง่ความต้องการซื้อในประเทศ นักลงทุนลงทุนระยะสั้นมีการซื้อๆขายๆไม่ได้ถือยาว แต่นักลงทุนบางส่วนที่ลงทุนระยะยาวมีการเทขายทองคำทำไรก่อน

ยกตัวอย่างช่วงประกาศนายกรัฐมนตรีนั้น เงินบาทพลิกแข็งค่า ทำให้ราคาทองคำย่อตัวลงมาอยู่ที่ 31,500 บาทในช่วงสั้นไม่ถึงครึ่งวัน หลังจากนั้นเงินบาทอ่อนค่าและดึงราคาทองคำขึ้นมาอยู่ในระดับราคา 33,050บาท อย่างไรก็ตาม ระหว่างราคาทองคำอยู่ที่ 32,000 บาท นักลงทุนขายทองคำทำกำไรบ้าง

จากนั้นราคาทองคำเป็นขาลงค่อนข้างเร็ว ประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาทองคำในประเทศร่วงลงมากว่า 115 ดอลลาร์จาก Spot 1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์มาอยู่ที่ 1,825 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งสาเหตุราคาทองปรับลดลงนั้น เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนในตลาดต่อการส่งสัญญาณของเฟด (Dot Pot) ที่เปลี่ยนไป โดยสะท้อนถึงโอกาสลดดอกเบี้ยในปี 2567 เหลือ 2 ครั้งจากเดิมเคยคาดไว้ 4 ครั้ง

ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่จะลดก็น้อยจากคาดการณ์เดิม 1.0% เหลือ 0.50% ซึ่งสะท้อนทิศทางอัตราดอกเบี้ยเฟดยังอยู่ในระดับสูงซึ่งกดดันต่อราคาทองคำภายใน2 สัปดาห์ ราคาทองคำร่วงลงเกือบ 1,000 บาทจาก 33,050 บาทเหลือ 32,050 บาท

 “มุมมองของนักลงทุนที่เชื่อว่า เฟดยังคงยืนอัตราดอกเบี้ยสูงในระดับที่ 5%ต่อปีจากปัจจุบันอยู่ที่ 5.50% ซึ่งคาดการณ์เดิมมองว่าดอกเบี้ยเฟดจะอยู่ที่ 4.50% ทำให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและบอนด์ยีลด์สหรัฐขยับสูงขึ้นด้วย กดราคาทองคำให้ร่วง”

 นายวรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแง่การลงทุนนั้น ถ้าราคาทองคำในประเทศหลุด 32,000 บาทลงไปเป็นแนวทยอยสะสมซื้อทองคำได้ เพราะทองคำหากเทียบในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา ลดลงมาแล้ว 252 ดอลลาร์ ซึ่งในตลาด รอแนวรับถัดไปที่ 1,800 ดอลลาร์ (คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 37.50 บาทต่อดอลลาร์ ราคาทองคำแท่งอยู่ที่ 31,900 และราคาทองรูปพรรณประมาณ 32,500) และแนวรับสุดท้ายที่ 1,780 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นราคาที่เข้าซื้อได้ ส่วนตัวมองว่า โอกาสจะเห็นได้ในระยะสั้น 2สัปดาห์ข้างหน้า

 ทั้งนี้ เนื่องจากการประชุมเฟดครั้งถัดไป (30 ต.ค.-1 พ.ย.66) ตลาดยังประเมินว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหรืออาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค. โดยทั้งอัตราดอกเบี้ยเฟดและค่าเงินบาท ล้วนมีผลต่อราคาทองคำเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นที่นักลงทุนต่างชาติยังกังวลคือ ความชัดเจนของนโยบายแจกเงินดิจิทัล

 นายวรชัยฝากถึงนักลงทุนในทองคำว่า อยากให้ลูกค้าที่สนใจลงทุนในกองทุนทองคำ ให้สอบถามร้านค้าทองคำโดยตรง เนื่องจากช่วงนี้มีการสร้างเพจ หรือเว็บไซต์ปลอม แอบอ้างชื่อร้านค้าทองคำหรือบริษัท โดยใช้ชื่อและภาพสินค้าไปแอบใช้ทำเสมือนร้านค้าจริง เป็นการหลอกลวงให้ลงทุน ขออย้ำเตือนว่า อย่าหลงเชื่อไปลงทุนหรือโอนเงิน กรณีจะโอนเงินควรติดต่อร้านค้าทองคำโดยตรงเท่านั้น