ลดค่าพลังงาน ใครได้ - ใครเสีย ?

24 ก.ย. 2566 | 19:57 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2566 | 20:00 น.
526

บล.กสิกรไทย มองมาตรการ"ลดค่าพลังงาน"เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และต่อระดับเงินเฟ้อของประเทศ แต่สำหรับการลงทุน อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการทำกำไรของผู้ประกอบการ ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงาน ที่คาดไม่ได้รับผลกระทบเลย คือ กลุ่มสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หรือไฟฟ้า ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ประเทศจะได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยรัฐบาลในทุกยุคทุกสมัยจึงพยายามทำหน้าที่จัดหาพลังงานให้ประชาชนได้ใช้อย่างไม่ขาดแคลน และในเวลาใดที่เกิดสภาวะตึงตัวของตลาดหรือขาดแคลนพลังงาน ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก รัฐบาลก็มีหน้าที่เข้าแทรกแซงราคาให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล

โดยเมื่อพูดถึงนโยบายการเข้าแทรกแซงราคาพลังงานของแต่ละรัฐบาลที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นการเข้าแทรกแซงเพื่อลดภาระค่าพลังงานให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นค่าเชื้อเพลิง เช่น น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม หรือค่าไฟฟ้า

นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า รัฐบาลชุดใหม่ (เศรษฐา 1) ถือว่าต้องเผชิญกับความท้าท้ายอย่างมากกับสภาวะที่ถือว่าไม่ปกติ ไม่ว่าจะเป็นจากสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซีย-ยูเครน การคว่ำบาตรการส่งออกพลังงานของรัสเซียโดยชาติตะวันตก การจับมือกันระหว่างกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน OPEC+ เพื่อควบคุมระดับอุปทานน้ำมันโลก รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอันเนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกที่ไม่ปกติดังกล่าวแล้ว รัฐบาลชุดใหม่ยังต้องเผชิญกับรอยต่อของสัมปทานใหม่ของแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ของประเทศ ที่ส่งผลทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยปรับลดลงชั่วคราว อีกทั้งในระยะยาวปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติของประเทศก็ยังทยอยปรับลดลงอีกด้วย

โดยหากถามว่านโยบายลดราคาพลังงานของรัฐบาลชุดใหม่นี้ ใครได้ ใครเสีย ? คงต้องตอบว่า คนที่ได้ประโยชน์แน่นอน คือ พี่น้องประชาชนที่ได้ใช้พลังงานในราคาที่ถูกลงในระยะหนึ่ง แต่จะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับวิธีที่รัฐบาลเลือกใช้ในการบริหารจัดการ ยกตัวอย่างเช่น การใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตเพื่อลดราคาน้ำมันดีเซลในประเทศให้ลดลงต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร อันนี้ถือว่าประชาชนได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เนื่องจากภาษีที่ถูกเรียกเก็บลดลง แต่หากการลดลงดังกล่าวเป็นการใช้เงินกองทุนน้ำมันเข้าอุดหนุน ก็เปรียบเสมือนการยืมเงินล่วงหน้ามาช่วยลดราคาน้ำมันลงในระยะสั้นเพียงเท่านั้น แล้วก็ต้องค่อย ๆ ทยอยเก็บเงินคืนกองทุนน้ำมันเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง ซึ่งการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันถือเป็นการลดความผันผวนมากกว่าที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจริง ๆ ในระยะยาว
 

ในส่วนของค่าไฟฟ้าก็เช่นกัน หากรัฐบาลลดค่า Ft ลงให้กับประชาชน ก็ต้องถามว่าค่า Ft ที่ลดลงนั้นใครเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งก่อนหน้านี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ทำหน้าที่เหมือนกองทุนน้ำมันคอยจ่ายเงินให้กับโรงไฟฟ้าตามราคาเชื้อเพลิงที่แท้จริงและเอาไฟฟ้าดังกล่าวมาขายต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น จนทำให้ปัจจุบัน กฟผ. มีหนี้สินจากการช่วยพยุงราคาค่าไฟดังกล่าวกว่า 1.5 แสนล้านบาท ดังนั้น เพื่อรักษาสถานะทางการเงินของ กฟผ. ทางภาครัฐบาลจึงได้เริ่มให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ซึ่งอีกในสถานะหนึ่งถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจทำหน้าที่เสมือนกองทุนอีกกองหนึ่งที่ทำการตรึงต้นทุนก๊าซธรรมชาติไว้ที่ 305 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งหากราคาก๊าซธรรมชาติสูงเกินกว่าระดับดังกล่าว ปตท. ก็จะออกเงินอุดหนุนให้ก่อน และเมื่อราคาก๊าซธรรมชาติปรับลดลง ปตท. ก็จะเรียกเก็บส่วนที่ได้อุดหนุนคืนไปในอนาคต ซึ่งมาตรการนี้เป็นการลดความผันผวนของค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้เช่นกัน 

ทั้งนี้ กลไกดังกล่าวแม้สุดท้ายประชาชนก็ต้องใช้เงินคืนในท้ายที่สุด แต่ก็ถือเป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการและมีประโยชน์อย่างมากต่อระดับเงินเฟ้อไทย ซึ่งหากรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย เมื่อราคาข้าวของเครื่องใช้ปรับขึ้นไปแล้วก็ยากที่จะปรับลดลงแม้ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับลดลงในท้ายที่สุดก็ตาม

โดยอีกคำถามหนึ่งที่ว่าใครเสียประโยชน์ ก็คงต้องตอบว่าตามทฤษฎีแล้วการเข้าแทรกแซงโดยการลดภาษีและใช้กลไกกองทุนในการควบคุมระดับราคาพลังงานนั้น ไม่ควรจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับผู้ประกอบการหากถูกนำไปใช้อย่างถูกต้องและในระดับที่เหมาะสม แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อไรก็ตามที่มีการพูดกันว่ารัฐบาลจะเข้าแทรกแซงราคาพลังงานก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการทำกำไรของผู้ประกอบการและบรรยากาศการซื้อขายหุ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้า ผู้ค้าปลีกน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน หรือแม้กระทั้ง ปตท. เองก็ตาม ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรระมัดระวัง คือ การบิดเบือนกลไกราคาจนมีผลกระทบกับผู้ประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ และก่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนำมาสู่การสูญเสียเงินตราต่างประเทศ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น 

ทั้งนี้ หากนักลงทุนไม่ต้องการรับความเสี่ยงจากประเด็นการแทรกแซงราคาพลังงานนี้ หุ้นพลังงานที่เหลือคงมีเพียงหุ้นในกลุ่มสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเท่านั้นที่ไม่ได้รับผลกระทบ อย่างเช่น PTTEP และ BANPU เป็นต้น


ท้ายที่สุด มาตรการลดค่าพลังงานเหล่านี้ถือว่าใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลหากราคาพลังงานในตลาดโลกมีการปรับตัวขึ้นจากปัจจัยที่เกิดขึ้นชั่วคราวในระยะสั้น และรัฐบาลใช้มาตรการดังกล่าวในระดับที่เหมาะสมที่ไม่ทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตาม หากต้องการแก้ไขปัญหาในระยะยาว รัฐบาลต้องไม่นิ่งนอนใจเพราะยังต้องเผชิญกับปัญหาโครงสร้างแหล่งพลังงานของประเทศ และทรัพยากรก๊าซธรรมชาติของประเทศที่ดูเหมือนจะลดน้อยลงทุกวัน รวมถึงกระแสการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องมองหาแหล่งพลังงานใหม่ที่มีราคาถูก มีเสถียรภาพของอุปทาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งพวกเราในฐานะประชาชนผู้ใช้พลังงานก็ต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศและสิ่งแวดล้อมที่ดีเอาไว้ให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานของเราต่อไป

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้เพื่อสำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน

ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)