ครึ่งปี แบงก์โกย รายได้ดอกเบี้ย 3.44 แสนล้าน

28 ก.ค. 2566 | 13:47 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2566 | 14:46 น.

จับตา 3 ปัจจัย “การจัดตั้งรัฐบาล-คุณภาพสินเชื่อ-หนี้ครัวเรือน” กดดันธุรกิจกลุ่มธนาคารช่วงที่เหลือของปี หลังครึ่งแรกปี 66 แบงก์ 10 แห่ง โกยรายได้ดอกเบี้ยกว่า 3.44 แสนล้านบาท ตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น คาดทั้งปีแตะ 6.9 แสนล้านบาท หนี้เสียชะลอ 5.97%

ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2566 และงวดครึ่งปี 2566 พบว่า ผลประกอบการที่ออกมาเติบโตแข็งแกร่ง โดยงวดไตรมาส 2 ปี 2566 มีกำไรสุทธิรวม 61,636.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.17% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 52,605.33 ล้านบาท ส่วนใหญ่มีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและมีการตั้งสำรองหนี้ลดลง โดยมีรายได้ดอกเบี้ยรวม 1.9 แสนล้านบาทเพิ่มขี้นกว่า 3 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็น 19% รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยขยับขึ้น 5.0%

ครึ่งปี แบงก์โกย รายได้ดอกเบี้ย 3.44 แสนล้าน

ส่วนงวด 6 เดือนแรกปี 2566 มีกำไรสุทธิรวม 121,917.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.24% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 105,795.68 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยรวม 3.44 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 53,492 ล้านบาทหรือ 18.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2.9 แสนล้านบาท ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 6.8% เป็น 1.36 แสนล้านบาทจาก 1.28 แสนล้านบาทเมื่อเที่ยบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่การตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้นครึ่งแรกปี 2566 รวมจำนวน 107,987 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 17,585 ล้านบาทหรือ 19.45% ส่วนไตรมาสที่ 2 สำรองเพิ่มขึ้น 20.4% เป็น 56,472 ล้านบาทจาก 46,911 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับลดลง 32,313 ล้านบาทหรือลดลง 5.9%

ครึ่งปี แบงก์โกย รายได้ดอกเบี้ย 3.44 แสนล้าน

ธนาคารพาณิชย์ที่มีกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2566 เติบโตเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน คือ LHFG, BBL, TTB, KTB, SCB, BAY และ TISCO ขณะที่ KBANK, KKP และ CIMBT กำไรสุทธิลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 

ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2566 ธนาคารพาณิชย์ที่มีกำไรสุทธิเติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ LHFG, BBL, TTB, KTB, SCB, BAY และ TISCO อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีผลประกอบการงวด 6 เดือน ปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ KBANK, KKP และ CIMBT

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)หรือ บล.พาย (Pi) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มช่วงที่เหลือของปี 2566 ยังมีโจทย์ท้าทายที่จะกดดันการดำเนินธุรกิจของกลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศคือ ปัจจัยการเมือง ความเชื่อมั่นการจัดตั้งรัฐบาล คุณภาพหนี้ในกลุ่มรายย่อยและเอสเอ็มอีและมาตรการรัฐรวมถึงการควบคุมหนี้ครัวเรือน รวมทั้งปัจจัยต่างประเทศ

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้แนวโน้มการทำกำไรครึ่งปีหลังจะไม่สามารถสู้ครึ่งปีแรกได้ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาทต่ำกว่าครึ่งปีแรก 12-15% เพราะกำไรสุทธิจะถูกปรับลดลงมากที่สุดในไตรมาสที่ 4 สาเหตุจากทุกธนาคารมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมากขึ้น ทั้งด้านการตลาด การลงทุนไอทีและโบนัสพนักงาน แม้ว่า จะทำกำไรได้ดีในไตรมาส 3 ก็ตาม

ขณะที่แนวโน้มรายได้ดอกเบี้ยสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้งปีประมาณ 6.9 แสนล้านบาท มากกว่าครึ่งปีแรกที่เฉพาะ 10 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิกว่า 3.4 แสนล้านบาท อานิสงส์จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยและสินเชื่อครึ่งปีหลังเติบโตมากกว่าครึ่งปีแรก และโอกาสดอกเบี้ย จะปรับขึ้นอีก 1 ครั้ง ประกอบกับสินเชื่อจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นไฮซีซัน โดยเฉพาะไตรมาส 4 โดยที่ 3 ธนาคารที่มีความสามารถในการสร้างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิสูงสุดคือ กสิกรไทย รองลงมาคือ ไทยพาณิชย์ และกรุงเทพ

“ภาพรวมเราประเมินสินเชื่อทั้งปีจะเติบโตได้ราว 4% บนสมมติฐานการเติบโต 1 เท่าของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว 3.5% แต่เริ่มเห็นสัญญาณแบงก์ส่งสัญญาณสินเชื่อบางประเภท เช่น สินเชื่อเช่าซื้อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ที่แบงก์กังวลเรื่องคุณภาพหนี้ จึงชะลอการปล่อยสินเชื่อ ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีกฎกำกับเรื่องการปล่อยกู้เข้ามาในปีหน้าและบางแบงก์อาจยังขายหนี้ออก”นายธนเดช กล่าว

ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยยังไม่ค่อยดีนัก เพราะที่มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมบริการไม่ดี เช่น ธุรกิจหลักทรัพย์ปีนี้ยังไม่ดี จากปัจจัยแวดล้อมตลาดทุน ดังนั้นรายได้ค่าธรรมเนียมปีนี้ ยังพอมีอานิสงค์จากแบงก์แอสชัวรันส์ หรือจากการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกนั้น เป็นรายการรับรู้กำไรทางบัญชี (Mark to Market) แต่ไม่ใช่รายได้จากค่าธรรมเนียม

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า คุณภาพหนี้ยังอยู่ในทิศทางดี  โดยทุกธนาคารสามารถ บริหารจัดการได้ อย่างไรก็ดีภาพรวมธนาคารตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้น สะท้อนความระมัดระวัง และการคำนึงถึงความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ทำให้ Credit cost หรือ สัดส่วนสำรองต่อสินเชื่อในไตรมาส 2 ขยับสูงขึ้นมาที่ 1.34% จาก 1.22% ในไตรมาสแรก และแนวโน้มในครึ่งปีหลัง กลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้ง 17แห่งจะยังคงตั้งสำรองในกรอบสูงกว่าช่วงปกติ ที่ประมาณ 1.22-1.28% แต่ต่ำลงหากเทียบกับในช่วงโควิด(ปี2563) อยู่ที่ 1.72%

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,908 วันที่ 27 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2566