ผ่า “ทันหุ้น” ธุรกิจสื่อในมือ "เสี่ยป๊อบ"

20 ก.ค. 2566 | 13:17 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2566 | 14:39 น.
1.2 k

ผ่าอาณาจักร “ทันหุ้น” หลังถูก AQUA ฟ้องข้อหานำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทำให้ผู้ถือหุ้น TPL เสียหาย พบหัวเรือใหญ่กับคนใกล้ชิด เสี่ยป๊อบ - สุรพงษ์ เคยพัวพันหุ้นดังหลายตัวก่อนถูก ก.ล.ต. ปรับ

จากกรณี บริษัท อควาคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AQUA โดยนายชัยพิพัฒน์ แก้วไตรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ เข้าพบพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับ บริษัท ทันหุ้น จำกัด และพวกรวม 7 ราย 

ฐานการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา

จากการตรวจสอบข้อมูลการดำเนินธุรกิจของ บริษัท ทันหุ้น จำกัด ผ่านระบบฐานข้อมูลการดำเนินธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าบริษัท ทันหุ้น จำกัด จดทะเบียนตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2544 มีทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 20 ล้านบาท จดทะเบียนประเภทธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัทโฆษณา โดยมีวัตถุประสงค์ผลิตและจำหน่ายสิ่งพิมพ์และโฆษณา

มีกรรมการบริษัท 2 ราย คือ นางสาวลลนา ศิริจรรยากุล กับนางสาวศรวณีย์ ศิริจรรยากุล ภรรยาของ "สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย" หรือ เสี่ยป๊อบ ผู้ได้ชื่อว่าตัวจริงเสียงจริงแห่งอาณาจักรทันหุ้น ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบข้อมูล บริษัท ทันหุ้น ยังปรากฏรายชื่อผู้ถือหุ้น 3 ราย คือ 

1. บริษัท ธนวรินทร์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 1 ในสัดส่วน 95% จำนวน 19,000 หุ้น จดทะเบียนอยู่ในประเภทธุรกิจ โรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด 

2. นายบุญมี อ่อนน้อม บรรณาธิการบริหาร ทันหุ้น เป็นอันดับที่ 2 สัดส่วน 5% จำนวน999 หุ้น 

3. นางสาวศรวณีย์ ศิริจรรยากุล กรรมการบริษัท อันดับที่ 3 จำนวน 1 หุ้น

หากนับเฉพาะบริษัท ธนวรินทร์ ข้อมูลจากกรมสรรพากร ระบุว่า ประกอบธุรกิจรีสอร์ทและสปา จดทะเบียนวันที่ 12 พ.ย.2545 โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ อันดับ 1 คือ นายธนนนท์ เตรียมชาญชัย (บุตรชายของนายสุรพงษ์) ถือหุ้น 41.6683% , รองลงมาคือ นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ถือหุ้น 41.6650% , อันดับ 3 นางสาว ศรวณีย์ ศิริจรรยากุล (ภรรยาของนายสุรพงษ์) ถือหุ้น 8.3333% และ อันดับ 4 คือ นางสาว นันท์วรินทร์ เตรียมชาญชัย (บุตรสาวของนายสุรพงษ์) ถือหุ้น 8.3333% 

ธนวรินทร์ ไม่เพียงแต่ถือหุ้นใหญ่ทันหุ้น ข้อมูล SETTRADE.COM พบว่ายังถือหุ้นอันดับ 4 ของ บริษัท เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด (มหาชน) หรือ WAVE ข้อมูล ณ วันที่ 27 มี.ค.66 จำนวน 328,202,354 หุ้น คิดเป็น 3.80% โดยมีนายธนนนท์ เตรียมชาญชัย ถือหุ้นอันดับ 5 จำนวน 277,767,819 หุ้น คิดเป็น 3.21% ขณะที่ น.ส.ศรวณีย์ ศิริจรรยากุล ถือหุ้นอันดับ 8 จำนวน 192,909,700 หุ้น คิดเป็น 2.23% 

สำหรับ สุรพงษ์ เองนั้น ยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารกลุ่ม บริษัท ทราฟฟิกคอร์นเนอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TRAF ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ หรือ MPIC และเจ้าของธุรกิจสื่อ A Day อีกทั้งเคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.นิปปอนแพ็ค(ประเทศไทย) หรือ NPP ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.โกลบอล คอนซูเมอร์ หรือ GLOCON

ย้อนรอย สุรพงษ์-ภรรยา 

ในแวดวงตลาดหลักทรัพย์ นายสุรพงษ์ ยังมีชื่อเสียงทางด้านการเทคโอเวอร์กิจการ ทำให้เข้าไปมีประวัติเข้าพัวพันกับบริษัทในตลาดหุ้นอีกหลายกรณีทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ บริษัท เอ็นพีพี ฟู้ด อินคอร์ปอเรชั่น , เดย์ โพเอทส์ บรีโอ้ มอลล์ , ที.ยู.เค.แลนด์ , ไทยเฟลคซิเบิลแพค , มิสเตอร์ โจนส์ อินเตอร์เนชั่นแนล รวมทั้ง เอ็ม.ที.ดับบลิว.อินเตอร์เนชั่นแนล และบรีโอ้ เรสเตอรองท์ 

หากรวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ sec.or.th ของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะพบว่า ในวันที่ 21 ก.ค. 2560 "สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย" ถูก ก.ล.ต. ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่ง กรณีซื้อหุ้นและชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อหุ้น บมจ.นิปปอน แพ็ค (NPP) และหลักทรัพย์ NPP-W1 โดยอาศัยข้อมูลภายใน ซึ่งขณะนั้นนายสุรพงษ์ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการของ NPP โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งรวม 10,336,293.33 บาท ก.ล.ต.ได้สั่งห้ามมิให้นายสุรพงษ์ เป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้นเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน

ต่อมา ในวันที่ 19 มีนาคม 2564 ก.ล.ต.ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 13 ราย กรณีสร้างราคาหุ้น KIAT โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งรวม 291,175,810 บาท 

โดยมีชื่อ "สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย" และ บมจ.นิปปอน แพ็ค(ประเทศไทย) หรือ NPP (ซึ่งขณะนั้น นายสุรพงษ์เป็นกรรมการผู้จัดการและเป็นผู้มีอำนาจซื้อขายในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ NPP) เป็นหนึ่งในผู้กระทำผิดตามมาตรา 243 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 296 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 317/4(1) แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ที่แก้ไขโดยฉบับที่ 5 พ.ศ. 2559 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา 

โดย คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิด 13 ราย โดย นายสุรพงษ์ กำหนดให้ชำระค่าปรับทางแพ่งจำนวน 33,859,920 บาท และ NPP จำนวน 23,295,000 บาท 

ทั้งนี้การที่ ค.ม.พ.ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นบุคคลจำนวน 12 ราย เป็นเหตุให้ผู้กระทำความผิดดังกล่าวเข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งการมีลักษณะต้องห้ามการเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

อีกทั้งหากย้อนกลับไปในวันที่ 24 มีนาคม 2554 คณะกรรมการ ก.ล.ต.กล่าวโทษ "นางสาวลลนา ศิริจรรยากุล"(อดีตถือหุ้นและเป็นกรรมการ บมจ.ทราฟฟิกคอร์นเนอร์ โฮลดิ้งส์ (TRAF) บริษัทเก่าของนายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย และ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการของ "บริษัท ทันหุ้น จำกัด") ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษในฐานความผิดกรณีสร้างราคาหุ้น TRAF (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น MPIC)ในช่วงระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 ถึงวันที่ 9 มกราคม 2551 โดยมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับ จำนวน 36,815,524.26 บาท 

รายชื่อคนใกล้ชิดสุรพงษ์ถูกฟ้อง

รายชื่อมีผู้ที่ถูกกล่าวหาและอาจอยู่ในข่ายถูกดำเนินคดี กรณี บมจ.ไทยพาร์เซิล หรือ TPL โดย AQUA ในฐานะผู้ถือหุ้นพบว่ามีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา 7 ราย ที่ใกล้ชิดนายสุรพงษ์ ประกอบด้วย 

1. บริษัท ทันหุ้น จำกัด (ทันหุ้น) 

2. นางสาวลลนา ศิริจรรยากุล กรรมการบริษัท 

3. นางสาวศรวณีย์ ศิริจรรยากุล กรรมการบริษัท 

4. นายบุญมี อ่อนน้อม บรรณาธิการบริหาร 

5. นายเฉลิมชัย ศิรินันทวิทยา บรรณาธิการออนไลน์ และผู้ดำเนินรายการทีวีออนไลน์ 

6. นางพุทธิธาดา ศิรินันทวิทยา บก. MAI และรองบรรณาธิการ 

7. นางสาวณัฎฐ์ชญา ปุริมปรัชญ์ภัทร ผู้สื่อข่าวทันหุ้น

AQUA ระบุว่าการฟ้องร้องครั้งนี้ เป็นผลมาจากเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ทันหุ้นโดยผู้บริหาร พนักงานและผู้เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันกระทำการลงข้อมูลในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ช่องทางต่างๆ ซึ่งได้อ้างอิงบทความของ “นายพงษ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี” หนึ่งในผู้ถือหุ้นดั้งเดิมของ “TPL” หากแต่เติมข้อความอันเป็นเท็จ และบิดเบือนจากความจริง ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรง ต่อนักลงทุนและผู้ถือหุ้น TPL กว่า 5,000 ราย 

การนำเสนอข่าวของทันหุ้นดังกล่าวยัง ทำให้บริษัท AQUA ได้รับผลกระทบ ทั้งทางด้านการลงทุนและชื่อเสียง ซึ่งปัจจุบัน AQUA ถือหุ้นใน TPL จำนวนกว่า 140 ล้านหุ้นหรือคิดเป็นกว่า 26% จึงเป็นเหตุได้มอบอำนาจให้ทนายความเข้าทำการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอท.

ชัยพิพัฒน์ แก้วไตรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท AQUA ระบุว่า จากนี้ทางพนักงานสอบสวนจะเริ่มการสืบสวนสอบสวนผู้ถูกล่าวหา รวมถึงเรียกพยานผู้เกี่ยวข้องทุกรายเข้ามาให้ปากคำ พร้อมย้ำว่า บริษัทยังมีข้อมูลหลักฐานที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจส่งมอบให้พนักงานสอบสวนอีกจำนวนมาก

ท้ายที่สุด การแจ้งความร้องทุกข์ของ AQUA ต่อบุคคลดังกล่าว จะมีผลออกมาเป็นอย่างไร ทุกอย่างคงเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป