"STARK" เบี้ยวส่ง Special Audit อ้างเหตุถูกอายัดทรัพย์ ขอต่อเวลา ก.ล.ต.

17 ก.ค. 2566 | 21:01 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2566 | 21:13 น.
526

"STARK" แจ้งเหตุไม่สามารถส่ง "Special Audit" ได้ทัน 17 ก.ค. 66 ตามกำหนด ระบุหลังถูกอายัดทรัพย์กระทบต่อการจัดเตรียมข้อมูล พร้อมขอขยายระยะเวลา สำนักงาน ก.ล.ต. เพิ่มเป็น 29 ก.ย. 66

นายอรรถพล วัชระไพโรจน์ กรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ตามที่ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ "STARK" ได้ดำเนินการตรวจสอบเป็นกรณี พิเศษตามขอบเขตที่ สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ขยายผลเพิ่มเติม (extended-scope special audit) ตามคำสั่งของสำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ขยายระยะเวลา การดำเนินการดังกล่าวจนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2566

แต่เนื่องจากสำนักงาน ก.ล.ต. มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของบริษัท และบริษัทย่อยที่สำคัญทั้งหมด บริษัทจึงได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจปกติของกลุ่มบริษัท แม้ว่าคำสั่งดังกล่าวจะไม่ได้ทำให้กลุ่มบริษัทหยุดประกอบกิจการทั้งหมด

แต่ก็ทำให้เกิดข้อจำกัดต่าง ๆ อีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของคู่ค้าและลูกค้า ของบริษัท การสรรหาบุคลากร (ไม่ว่าจะเป็นกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานในตำแหน่งสำคัญ)

เพื่อเข้ามาบริหารกิจการ และแก้ไขปัญหาของกลุ่มบริษัท การลาออกของช่างฝีมือ (skilled-workers) การดำเนินธุรกิจของในกลุ่มบริษัทจึงขาดความต่อเนื่องและมีการหยุดชะงักลงอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มบริษัทจึงต้องระดมบุคลากรและทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากคำสั่งดังกล่าว

ตลอดจนทุ่มเทเวลาและทรัพยากรในการจัดเตรียมข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ ในการดำเนินการขอให้สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการผ่อนผันให้กลุ่มบริษัทสามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินและกิจการ ใดที่จำเป็นเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทต่อไปได้

เอกสาร "STARK" แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์

ดังนั้นจึงทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดเตรียมข้อมูล เพื่อการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ขยายผลเพิ่มเติม (Extended-scope Special Audit) การดำเนินการดังกล่าว จึงยังไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่สำนักงาน ก.ล.ต. ขยายเพิ่มเติม

 

โดยบริษัทได้จัดส่งรายงาน ความคืบหน้าให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. บริษัทยังไม่สามารถสรุปผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของ STARK ได้ โดยบริษัทกำลังดำเนินการ ตรวจสอบรายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารในส่วนที่เหลือเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งดำเนินการตรวจสอบไปแล้ว ประมาณร้อยละ 75 (จากเดิมร้อยละ 60) อย่างไรตาม บริษัทประสบปัญหาในการขอรายการเดินบัญชี (bank statement) จากบางธนาคาร เนื่องจากเอกสารที่ได้รับมาไม่มีรายละเอียดเพียงพอในการตรวจสอบข้อมูลความ เชื่อมโยงรายการระหว่างผู้รับเงินและผู้จ่ายเงิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของธนาคารแจ้งว่าธนาคารสามารถเปิดเผยข้อมูลใน รายการเดินบัญชีในรูปแบบเดียวเท่านั้น และไม่สามารถให้ข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ บริษัทและผู้สอบบัญชี จึงต้องใช้เวลาอย่างมากในการตรวจสอบข้อมูลจากเอกสารดังกล่าว การดำเนินการในส่วนนี้จึงยังไม่แล้วเสร็จ รวมถึงบริษัทอยู่ในระหว่างการจัดเตรียมเอกสารอื่น ๆ เพื่อประกอบการลงบัญชีเพิ่มเติม การดำเนินการในส่วนนี้ จึงยังไม่แล้วเสร็จ

2. บริษัทย่อยรายบริษัท เฟลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ("PDITL") ในส่วนของ PDITL นั้น แม้ว่าบริษัทจะได้ดำเนินการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการซื้อและการขาย เพื่อให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ แต่เนื่องจากมีปริมาณเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลา ในการดำเนินการตรวจสอบซึ่งการตรวจสอบเอกสารสำหรับปี 2565 มีความคืบหน้ามากกว่าร้อยละ 75 (จากเดิม ร้อยละ 60) โดยบริษัทอยู่ระหว่างการทยอยจัดเตรียมและนำส่งเอกสารส่วนที่เหลือให้แก่ผู้สอบบัญชี ควบคู่ไปกับ การรวบรวมชุดเอกสารประเภทเดียวกันสำหรับปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณเอกสารที่ใกล้เคียงกันและต้องใช้ เวลาในการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่ใกล้เคียงกัน การดำเนินการในส่วนนี้จึงยังไม่แล้วเสร็จ บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (“ADS”) และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (“TCI”)

3. ในส่วนของ ADS และ TCI นั้น ผู้สอบบัญชีได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลของ ADS แล้วประมาณ ร้อยละ 50 (จากเดิมร้อยละ 30) และตรวจสอบข้อมูลของ TCI แล้วประมาณ ร้อยละ 50 (จากเดิมร้อยละ 20) ของข้อมูลทั้งหมด ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจพบธุรกรรมที่อาจผิดปกติใน TCI เพิ่มเติม ผู้สอบบัญชีจึงอาจจะต้องขยายขอบเขตในการตรวจสอบเพิ่มเติม บริษัทจึงต้องจัดเตรียมข้อมูลเพื่อการตรวจสอบ ดังกล่าว และคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบธุรกรรมดังกล่าว การดำเนินการในส่วนนี้ของ ADS และ TCI จึงยังไม่แล้วเสร็จ

ด้วยเหตุการถูกอายัดทรัพย์สิน ซึ่งส่งผลกระทบในทางลบต่อกลุ่มบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทจึงต้องทุ่มเท บุคลากรและเวลาในการรวบรวมข้อมูลและเอกสารให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้บริษัทสามารถทำธุรกรรมที่จำเป็นได้ และเพื่อขอให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาผ่อนผันคำสั่งดังกล่าว

เพื่อให้กลุ่มบริษัทกลับมาประกอบธุรกิจเป็นปกติ และป้องกัน ปัญหาในเรื่องการหยุดชะงัก หรือหยุดประกอบกิจการของกลุ่มบริษัทซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทุก ๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นกู้ เจ้าหนี้ ลูกค้า คู่ค้าต่าง ๆ และพนักงานของกลุ่มบริษัทอย่างประเมินค่าไม่ได้

"บริษัทจึงไม่สามารถดำเนินการให้การตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ขยายผลเพิ่มเติม (Extended-scope Special Audit) เสร็จสิ้นภายในวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ดังนี้ บริษัทจึงได้ยื่นหนังสือขอขยายระยะเวลา เพื่อดำเนินการในส่วนนี้เป็นครั้งที่สอง ไปจนถึงวันที่ 29 กันยายน 2566" 

โดยอยู่ระหว่างรอการพิจารณา ของสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ บริษัทขอยืนยันว่าบริษัทมิได้นิ่งนอนใจและจะดำเนินการอย่างสุดความสามารถเพื่อให้การตรวจสอบ เป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ขยายผลเพิ่มเติม (Extended-scope Special Audit) เสร็จสิ้นโดยเร็ว และจะรายงานความคืบหน้าให้กับนักลงทุนทราบเป็นระยะ แนวทางการดำเนินการของบริษัท

บริษัทขอเรียนชี้แจงว่า บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ของบริษัทและกลุ่มบริษัทที่ถูกอายัดทรัพย์สินตามคำสั่งของสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากการอายัดทรัพย์สิน บริษัทจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการเจรจากับเจ้าหนี้ได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถ ดำเนินการใด ๆ เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท

นอกจากนี้ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นการยากที่บริษัทจะ ดำเนินการเพิ่มทุนหรือพิจารณาหานักลงทุนรายใหม่เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของบริษัท และบริษัทยังอาจไม่สามารถที่จะยื่น คำร้องต่อศาลล้มละลายเพื่อดำเนินการฟื้นฟูกิจการเพื่อปรับโครงสร้างทุน และโครงสร้างหนี้ของบริษัทภายใต้แผนฟื้นฟู กิจการได้อีกต่อไป

เพราะหากกลุ่มบริษัทไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าบริษัทมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจเป็นปกติ บริษัทย่อมไม่สามารถนำเสนอช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้อย่างประสบความสำเร็จภายใต้การถูกอายัดทรัพย์สิน

บริษัทจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญในการดำเนินการใด ๆ เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการผ่อนผันให้ กลุ่มบริษัทสามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินและกิจการใดที่จำเป็นเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทต่อไปได้ เป็นปกติโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ทั้งนี้บริษัทจะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะแก้ไขกรณีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ เพื่อรักษา ประโยชน์สูงสุดของบริษัท ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกรายบริษัท และกอบกู้กิจการของกลุ่มบริษัทเพื่อให้ยังดำเนินธุรกิจ ต่อไปได้

ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถปรับโครงสร้างทุนและโครงสร้างหนี้ทั้งของบริษัทและบริษัทย่อยซึ่งดำเนินธุรกิจหลัก เพื่อทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีค่ามากกว่าศูนย์ และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติของบริษัทย่อย ซึ่งดำเนินธุรกิจหลัก และลดผลกระทบต่อพนักงานของกลุ่มบริษัทที่มีมากกว่าหนึ่งพันครอบครัว

โดยบริษัทจะแจ้งให้ทราบถึงแนวทางดำเนินการแก้ไขเหตุเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน และกำหนดเวลาของการดำเนินการดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้น และนักลงทุนทราบต่อไป เมื่อสถานการณ์ของบริษัทดีขึ้น

อ่านรายละเอียดเอกสาร STARK : คลิกที่นี่