IAA แนะเคล็ดลับ จับโกง บจ. แต่งบัญชี สร้างสตอรี่ แต่ไม่มีพบปะนักลงทุน

14 ก.ค. 2566 | 04:30 น.

สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) แนะเคล็ดลับ จับโกง บจ. ตกแต่งบัญชี สร้างสตอรี่ แต่ไม่มีพบปะนักลงทุน ชี้การทำเอกสารปลอม ยอมรับขอบเขตของนักวิเคราะห์เข้าไม่ถึงข้อมูลจริง

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม กรรมการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัยบริษัท เอเซีย พลัส แนะนำผ่านงานสัมมนา "เคล็ดลับจับกลโกงบัญชี และแนวทางคัดกรองหุ้น" ว่า บทบาทของนักวิเคราะห์ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในการล้วงลึกข้อมูล เช่น เมื่องบประกาศออกมา นักวิเคราะห์จะมองภาพรวมของกิจการก่อน และมองไปในอดีตว่ามีการเปลี่ยนแปลง หรือผิดสังเกตุอย่างไร

แต่เมื่อเกิดกรณีบริษัทตกแต่งบัญชี มีการทำเอกสารปลอม เพราะยังมีจุดอ่อนด้วยขอบเขตของ นักวิเคราะห์ ที่ไม่สามรถเข้าไม่ข้อมูลอย่างระเอียด ซึ่งทำได้เพียงแค่ตั้งข้อสังเกตุ รวมทั้งจำนวนของนักวิเคราะห์ที่น้อยกว่า บริษัทจดทะเบียนไทย และหุ้นที่จะถูกนักวิเคราะห์ cover คาดคิดเป็น 1 ใน 4 เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าจะมีหุ้นอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ถูก cover, งบไม่ได้ถูกตรวจสอบ จากมุมของนักวิเคราะห์

โดยหุ้นที่ถูกนักวิเคราะห์ cover ส่วนใหญ่จะไม่พบปัญหา หรือมีการตกแต่งบัญชี เนื่องจากจะมีการจัดประชุมนักวิเคราะห์ (analyst meeting), บริษัทจดทะเบียนมีการพบปะนักลงทุน ผ่านกิจกรรม Opp Day รวมถึงการทำ Earning Preview ซึ่งหลังและก่อนประกาศงบจะไม่มีปัญหา แต่สังเกตุดูได้ว่าบริษัทที่เป็นปัญหาจะไม่มีนักวิเคราะห์เข้าไปcover

ส่วนการดูงบการเงิน นักวิเคราะห์จะให้ความสำคัญกับสินทรัพย์หมุนเวียน เช่น ลูกหนี้การค้า นอกจากดูเพิ่มขึ้น ลดลงแล้ว จะดูไปถึงคุณภาพลูกหนี้ด้วย เนื่องจากหลายครั้งที่เจอปัญหา จะเกิดจากคุณภาพของลูกหนี้ไม่ดี โดยเฉพาะในบริษัทที่มีมาร์จิ้นต่ำๆ และยังมีคุณภาพลูกหนี้มีปัญหา โดยแนะให้เน้นดูตรงคุณภาพลูกหนี้ 

ด้านสินค้าคงเหลือ จะมองในแง่เป็นสินค้าที่แปลงเป็นเงินสดได้ช้าหรือเร็ว โดยเฉพาะในบริษัทที่มีสินค้าคงคลังค่อนข้างมาก อย่าง อสังหาริมทรัพย์ ทำให้ต้องดูว่าเป็นสินค้าคงเหลือประเภทไหน แปลงเป็นเงินสดได้ช้าหรือเร็ว อีกทั้งควรจะดูงบกระแสเงินสดด้วย ถ้าบริษัทไหน Report ตัวเลข Net Profit ใกล้กับกระแสเงินสดจาการดำเนินงาน จะถือว่า Smooth ที่สุด

วิธี Check List หุ้น ก่อนลงทุน ลดความเสี่ยง 

1. รู้จักบริษัทนั้นให้ดี โดยสามารถอ่านข้อมูลย้อนหลัง เพื่อให้รู้ว่ามีสถานะการเงินอย่างไร มีการทำธุรกิจอะไร และที่สำคัญมีการตัดสินใจผ่านปัญหามาได้อย่างไร  

2. ดูความสอดคล้องระหว่างสตอรี่ที่ถูกสร้าง กับร่องรอยที่ปรากฎในงบการเงิน 

3. พบรายการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรม เช่น ขาดทุนอยู่แต่พลิกกลับมามีกำไรมหาศาล 

4. เห็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการบัญชี หรือผู้สอบบัญชี หรือ CFO บ่อยๆ และดูจุดที่เปลี่ยนแปลงว่าหากไม่เปลี่ยนจะเกิดอะไร

5. มีบริษัทย่อยมาก เข้าถึงได้ยาก ก็อาจจะเกิดปรากฎการณ์หลอกตาได้เช่นกัน

6. รายการนอกงบดุล (Off-balance sheet) 

7. บริษัทไม่มีนักลงทุนสัมพันธ์ (IR) และยังไม่มีกิจการ Opp Day

สรุปได้ว่าบริษัทที่มีความเสี่ยงที่จะมีกลโกง คือ บริษัทที่ไม่มีนักลงทุนสัมพันธ์ (IR), ไม่มา Opp Day และไม่เคยพบปะนักลงทุน ซึ่งจะให้ข้อมูล หรือให้ข่าวเฉพาะจะออกมาสื่อสารเท่านั้น