"ไทยพาร์เซิล"เคาะขาย IPO ที่ 3.30 บาท เปิดจองซื้อ 22-26 มิ.ย.66

20 มิ.ย. 2566 | 15:35 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2566 | 16:59 น.

บมจ.ไทยพาร์เซิล ( TPL ) กำหนดราคา IPO ที่ 3.30 บาท P/E 47.14 เท่า เปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 22-26 มิ.ย.66 จดทะเบียนในตลาด mai

บริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL  เสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 120 ล้านหุ้น กำหนดราคา IPO ที่ 3.30 บาท เปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 22-26 มิ.ย.66 โดยจะนำหุ้นสามัญเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  เอ็ม เอ ไอ (mai)  โดยมี บล.คิงส์ฟอร์ด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายโดยไม่รับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ รวมผู้ร่วมจัดจำหน่ายโดยไม่รับประกันการจำหน่าย ได้แก่ บล.ลิเบอเรเตอร์ บล.เอเอสแอล และ บล.ไอร่า ส่วน บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

บริษัทจะเสนอขายหุ้น IPO  ให้แก่บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 96 ล้านหุ้น หรือ 60% และเสนอขายต่อนักลงทุนสถาบัน 6 ล้านหุ้น หรือ 5% และเสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัท 18 ล้านหุ้น หรือ 15%

ราคาหุ้น IPO ที่ 3.30 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 47.14 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.07 บาทต่อหุ้น ซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.65-31 มี.ค.66 ซึ่งมีกำไรสุทธิเท่ากับ 27.82 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดก่อนการเสนอขาย IPO จำนวน 404.00 ล้านหุ้น (Pre-IPO Dilution) และคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 66 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.05 บาทต่อหุ้น หากพิจารณากำไรสุทธิต่อหุ้นที่คำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดหลังขาย IPO เท่ากับ 524.00 ล้านหุ้น (Post-IPO Dilution)

บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการเสนอขาย IPO ครั้งนี้ราว 396 ล้านบาท ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ดังนี้
         

  • 1.ซื้อที่ดินและก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าและ/หรือจุดให้บริการ 80 ล้านบาทภายในปี 67
  • 2.ซื้อยานพาหนะ สถานีชาร์จไฟและอุปกรณ์ต่างๆ  260 ล้านบาทภายในปี 67
  • 3.ลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ 6 ล้านบาทภายในปี 67
  • 4.ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของบริษัท 20 ล้านบาทภายในปี 66
  • 5.ชำระหนี้คืนแก่สถาบันการเงิน 30 ล้านบาทภายในปี 66

 

TPL ประกอบธุรกิจให้บริการจัดส่งสินค้าหรือสิ่งของในประเทศไทยทั้งสำหรับภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป รวมถึงให้บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของจากกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ให้สามารถประกอบธุรกิจขนส่งได้

โดยลักษณะการให้บริการหลักของบริษัท ได้แก่ การรับสินค้าหรือสิ่งของจากจุดบริการทั่วประเทศหรือรับจากลูกค้าโดยตรง แล้วรวบรวมมาคัดแยกที่จุดคัดแยกเพื่อนำไปส่งที่จุดหมายปลายทาง ซึ่งมีทั้งคลังสินค้า โรงงาน ร้านค้า หรือบ้านของลูกค้า รวมถึงสาขาของบริษัท และมีการให้บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง (Cash on Delivery: COD) โดยลูกค้าที่ใช้บริการกับบริษัทสามารถติดตามสินค้าที่จัดส่งได้จากระบบของบริษัท (Parcel Tracking) ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการการขนส่งที่บริษัทพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยบริหารจัดการการจัดส่งสินค้า ครอบคลุมตั้งแต่การรับสินค้า การออกบาร์โคด (Barcode) สำหรับตรวจสอบสถานะการจัดส่ง การบันทึกการจัดรถเพื่อรับและส่งสินค้า การบันทึกข้อมูลลูกค้าปลายทางและข้อมูลการเก็บเงินปลายทาง

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการให้บริการเสริม (Fulfillment) เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ลูกค้า ได้แก่ บริการจัดส่งคืนเอกสารการจัดส่งสินค้าสู่ลูกค้าต้นทาง (Proof of Delivery: POD) บริการห่อหุ้มสินค้าและจัดชุดสินค้าเพื่อเตรียมกระจาย (Packing) ซึ่งเป็นการให้บริการเสริมให้แก่กลุ่มลูกค้าภาคธุรกิจในปัจจุบัน

สำหรับโครงสร้างรายได้ของกลุ่มบริษัทสามารถแบ่งได้ตามประเภทของการจัดส่ง ได้แก่

  • 1) การจัดส่งแบบธุรกิจถึงธุรกิจ (Business to Business: B2B)
  • 2) การจัดส่งแบบบุคคลถึงบุคคล (Customer to Customer: C2C) และ
  • 3) การจัดส่งแบบธุรกิจถึงบุคคล (Business to Customer: B2C)

โครงสร้างผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 24 เม.ย.66

  • กลุ่มครอบครัวผู้บริหาร ตระกูลจีนะวิจารณะ ถือหุ้นรวมกัน 47.01% หลัง IPO จะลดเหลือ 36.25%
  • บมจ.อควา คอร์เปอเรชั่น (AQUA) ถือ 34.67% จะลดเหลือ 26.73%
  • นายสุระ  คณิตทวีกุล  4.95% จะลดเหลือ 3.82%
  • น.ส.สุธิดา มงคลสุธี 4.33% จะลดเหลือ 3.34%
  • นายบัญชา  พันธุมโกมล  3.59% จะลดเหลือ 2.77%
  • นายพงศ์ศักดิ์  ธรรมธัชอารี 2.48% จะลดเหลือ 1.91%
  • นายพีรเจต  สุวรรณนภาศรี 1.98% จะลดเหลือ 1.53%
  • นายนันทิวัฒน์  พงษ์เจริญ 0.25% จะลดเหลือ 0.19%