"บจ.ถูกเพิกถอน" มีกรณีใดบ้าง ตามมาตรการ ตลท.

20 มิ.ย. 2566 | 04:30 น.

บริษัทจดทะเบียน "ถูกเพิกถอน" จากตลาดหลักทรัพย์ในกรณีใดได้บ้าง แบบไหนที่ตลาดหลักทรัพย์พิจารณาแล้วเห็นว่ามีลักษณะไม่เหมาะสม พร้อมส่องรายละเอียดมาตรการที่ใช้ในการกำกับดูแล

สืบเนื่องจากกรณีที่ ผู้ตรวจสอบบัญชี ได้พบความผิดปกติเป็นจำนวนมากในหลายประเด็น ของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK โดยเฉพาะการออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้ลูกหนี้การค้าสูงเกินความเป็นจริง 5,005 ล้านบาท ในปี 2565

และจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าให้แก่เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งกว่า 10,451 ล้านบาท ความเสียหายกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ทำให้หลายคนคงให้ความสนใจว่า บริษัทจดทะเบียน "ถูกเพิกถอน" จากตลาดหลักทรัพย์ในกรณีใดได้บ้าง ฐานเศรษกิจ ได้ตรวจสอบข้อมูลใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยได้รวบรวมถึงกรณีที่บริษัทจดทะเบียนอาจถูกเพิกถอน จากตลาดหลักทรัพย์

หากตลาดหลักทรัพย์พิจารณาแล้วเห็นว่าบริษัทจดทะเบียนมีลักษณะไม่เหมาะสมที่จะดำรงสถานะในการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

เหตุที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนที่สำคัญ ได้แก่

1. การดำเนินงาน/ฐานะการเงิน มีลักษณะในกรณีใดกรณีหนึ่ง กรณีแรกหยุดประกอบกิจการทั้งหมด/เกือบทั้งหมด กรณีที่สองผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินประจำปีเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน และกรณีงบการเงินตรวจสอบฉบับล่าสุด แสดงส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์

2. จำหน่ายสินทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจไปทั้งหมด/เกือบทั้งหมด เป็นผลให้มีสินทรัพย์ทั้งหมด/ เกือบทั้งหมดในรูปของเงินสด/หลักทรัพย์ระยะสั้น เกินกว่า 6 เดือนนับแต่วันที่ตลาดหลักทรัพย์ได้รับรายงานแสดงฐานะการเงิน หลังจากที่จำหน่ายสินทรัพย์ทั้งหมด/เกือบทั้งหมดแล้ว

3. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ อันอาจมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิทธิประโยชน์หรือการตัดสินใจของผู้ลงทุนหรือการเปลี่ยนแปลงในราคาหลักทรัพย์

4. เปิดเผยข้อมูลเป็นเท็จ/ไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญ อันอาจมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิทธิประโยชน์หรือการตัดสินใจของผู้ลงทุนหรือการเปลี่ยนแปลงในราคาของหลักทรัพย์

5. บริษัทจดทะเบียนเลิกกิจการ หรือศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์

6. ดำเนินการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น

7. ลักษณะการประกอบธุรกิจไม่เหมาะสมที่จะดำรงอยู่ในฐานะบริษัทจดทะเบียน

8. บริษัทจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นในบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมซึ่งมีผลกระทบอย่างร้ายแรง

9. ตลาดหลักทรัพย์ขึ้น SP เป็นระยะเวลาเกิน 2 ปี เนื่องจากบริษัทฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด

10. บริษัทจดทะเบียนไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้เหตุแห่งการเพิกถอนหมดไป หรือให้มีคุณสมบัติเพื่อกลับมาซื้อขาย ได้ตามแนวทางปฏิบัติที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด

11. เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหรือถูกเพิกถอนหุ้นซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลัก

อย่างไรก็ตามทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดแนวทางดำเนินการต่อบริษัทจดทะเบียน กรณีที่ตลาดหลักทรัพย์เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนสามารถแก้ไขปรับปรุงให้มีคุณสมบัติการเป็นบริษัทจดทะเบียนต่อไป ได้แก่

1. มีการดำเนินงาน/ฐานะการเงินเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน 

2. มีสินทรัพย์ทั้งหมด/ เกือบทั้งหมด ในรูปเงินสด/ หลักทรัพย์ระยะสั้น (Cash Company

3. ไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบได้ภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งเข้าเหตุเพิกถอนจากการขึ้น SP เป็นระยะเวลาเกิน 2 ปี

4. การฝ่าฝืน/ ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ และไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญ ทั้งการไม่นำส่งงบการเงิน การนำส่งงบการเงินล่าช้าเกินกว่ากำหนด และการที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง

แนวทางดำเนินการแก้ไขคุณสมบัติเพื่อให้เหตุเพิกถอนหมดไปและกลับมาซื้อขายได้ กำหนดระยะเวลาเพื่อฟื้นฟูกิจการเป็น 2 ช่วง

1. ช่วงดำเนินการให้เหตุเพิกถอนหมดไป (Stage 1)  

2. ช่วงดำเนินการให้หลักทรัพย์มีคุณสมบัติครบถ้วนเพื่อกลับมาซื้อขายได้ (Stage 2)

ทั้งนี้ กรณีที่หุ้นสามัญของบริษัทเข้าเหตุอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนหลายเหตุซึ่งอาจทำให้มีระยะเวลาในการแก้ไขแต่ละเหตุที่แตกต่างกัน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาแต่ละเหตุที่อาจถูกเพิกถอนแยกออกจากกัน โดยจะพิจารณาเหตุที่ทำให้หุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนที่ครบกำหนดระยะเวลาแล้วก่อน