"หุ้นไทย"รับแรงหนุน MOU จับตาการเมือง-เพดานหนี้สหรัฐกดดัน

23 พ.ค. 2566 | 09:39 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2566 | 09:58 น.

"หุ้นไทย" วันนี้ ( 23 พ.ค.) คาดแกว่ง 1,520-1,540 จุด แรงหนุนเซ็น MOU ตั้งรัฐบาล 8 พรรคร่วม แต่ยังมีแรงกดดัน ไม่ว่าประชุมวุฒิสภาวันนี้ ปัจจัยต่างประเทศการเจรจาเพิ่มเพดานหนี้ หากไม่ทัน 1 มิ.ย. กดดันฟันด์โฟลว์ไหลออก

ตลาดหุ้นไทยวานนี้ (22 พ.ค.) SET Index พลิกปิดบวก 14 จุด (+0.95%)  ปิดที่ระดับ 1,529 จุด นักลงทุนเข้าช้อนซื้อหุ้นที่ร่วงแรง คาดหวัง MoU ของ 8 พรรคร่วมออกมาในโทนบวก อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติ ยังเป็นฝ่ายขายทั้ง 2 ตลาด โดยขายสุทธิหุ้นไทยที่ 1,469 ล้านบาท และในตลาดพันธบัตรขาดสุทธิ 8,583 ล้านบาท


สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทย วันนี้ ( 23 พ.ค.66 ) นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ  คาดดัชนี SET จะแกว่งตัวบวกลบกรอบ 1520 - 1540 จุด  อาจปรับตัวลงบ้าง เนื่องจากปิดตลาดเมื่อวานปรับขึ้นแรง แต่โดยรวมบรรยากาศการซื้อขายน่าจะออกมาดี 

"ตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ปรับลงมากเกินไป ประกอบกับ MOU รัฐบาลที่ประกาศออกมา ไม่มีประเด็น ม.112 ที่อ่อนไหว ทำให้เห็นความร่วมมือของพรรคทั้งที่ไม่มาจากพรรครัฐบาล และ สว. ทิศทางน่าจะเป็นบวกต่อตลาดทุน

ขณะที่กลุ่มหุ้นที่เกี่ยวกับการบริโภคยังแข็งแรงมาก ๆ และไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทางการเมืองเลย อาทิค้าปลีก ท่องเที่ยว โรงแรม หุ้นเด่นกลุ่มนี้ได้แก่ CPALL MAKRO  ERW   MINT  นอกจากนี้หุ้นในกลุ่มสื่อสารและโรงไฟฟ้า ที่มีโอกาสฟื้นตัว หลังจากที่ราคาปรับลงมาแรง คนกังวลประเด็น"การผูกขาด" ซึ่งตนมองว่านโยบายพรรครัฐบาล หากเข้ามาบริหารการจะเปลี่ยนแปลง คิดว่าอาจไม่ได้ง่ายนัก หุ้นเด่นกลุ่มนี้ที่น่าสนใจ อาทิ  ADVANC TRUE และ  GULF     

 

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน คาดแนวโน้มตลาดหุ้นไทย วันนี้ (23 พ.ค.66) ประเมิน SET แกว่งตัว 1,520-1,540 จุด โดยภาวะตลาดได้แรงหนุนจาก 8 พรรคลงนามบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ประกอบกับวาระร่วมที่ทุกพรรคเห็นพ้องกันทั้งหมด 23 ข้อ และ มีอีก 5 ข้อเป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งภาพรวมเป็นกรอบรายละเอียดกว้างๆ แต่ครอบคลุมแนวทางปฏิรูปและบริหารประเทศอย่างครบถ้วน โดยไม่มีเงื่อนไขการแก้ไขมาตรา 112 ใน MoU พร้อมจับตาการประชุมวุฒิสภา วันนี้

ทั้งนี้ ความกังวลสหรัฐผิดนัดชำระหนี้หากไม่สามารถเจรจาเพิ่มเพดานหนี้ได้ทันวันที่ 1 มิ.ย.66 และติดตามตัวเลข PMI การผลิตและบริการของสหรัฐเพื่อจับทิศทางเศรษฐกิจ ตัวเลขดังกล่าวเป็นรายงานเบื้องต้น โดย Consensus คาดดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน พ.ค.ของสหรัฐจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 50 จาก 50.2 ในเดือน เม.ย. หากตัวเลขดังกล่าวปรับลดต่ำกว่าระดับ 50 จะบ่งชี้ว่าภาคการผลิตและเศรษฐกิจสหรัฐมีสัญญาณของการชะลอตัวอาจจะทำให้ตลาดหุ้นในสหรัฐตอบรับเชิงลบ

นอกจากนี้ ติดตามความเห็นคณะกรรมการ FED ส่วนใหญ่ยังหนุนให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์ไม่ได้กังวลกับประเด็นนี้เพราะหากดูจากมุมมองของประธานเฟดล่าสุดมีท่าทีกังวลต่อวิกฤติภาคธนาคารในสหรัฐมากขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อสหรัฐที่เริ่มลดลงน่าจะกดดันให้เจ้าหน้าที่เฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย.ตามที่ฝ่ายฯและตลาดคาดกันไว้ ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวข้างต้นจะกดดันต่อทิศทาง Fund flow และภาวะตลาดให้สลับอ่อนตัวลง

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาด SET ฟื้นตัวได้ต่อ จากสัญญาณเทคนิคที่แสดง ภาพการรีบาวด์ หลังเมื่อวานหลุดระดับ 1,500 จุด แล้วมีแรงซื้อกลับจนปิดบวกได้ ด้านแนวต้านถัดไปอยู่ที่ 1,540 และ 1,550 จุด ตามลำดับ ส่วนแนวรับระยะสั้น อยู่ที่ 1,516 และ 1,507 จุด ตามลำดับ ที่คาดยังเป็นจุดรองรับได้


ประเด็นสำคัญติดตามความคืบหน้าการเจรจาเพดานหนี้สหรัฐ

กลยุทธ์การลงทุน  :  มอง SET ยังคงผันผวนตามสถานการณ์จัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยระดับการฟื้นตัวจะขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ ซึ่งคงต้องติดตามต่อไป โดยเฉพาะช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งคาดจะ มีการเปิดประชุมสภาเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไทย

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามจากประเด็นเพดานหนี้ รวมทั้ง ฐานะการเงินของธนาคารขนาดกลางและเล็กของสหรัฐฯกล ยุทธ์จึงแนะนำให้ “Selective Buy”