หุ้น "แอปเปิ้ล" ดีดตัว หลังจับมือโกลด์แมนฯ สยายปีกสู่ธุรกิจธนาคาร

19 เม.ย. 2566 | 07:55 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2566 | 08:11 น.

หุ้นแอปเปิ้ล ดีดตัวก่อนเปิดตลาดหุ้นวอลล์สตรีทวานนี้ ขานรับการสยายปีกรุกธุรกิจธนาคาร สร้างแรงกระเพื่อมกดดันบรรดาแบงก์พาณิชย์ในสหรัฐด้วยบริการรับฝากเงินออมทรัพย์จากลูกค้า ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า 4% ต่อปี

 

ราคาหุ้น ของ บริษัท แอปเปิ้ล อิงค์ ดีดตัวขึ้นในการซื้อขายก่อนเปิดตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อวันอังคาร (18 เม.ย.) หลังบริษัทเปิดตัว บริการรับฝากเงินออมทรัพย์จากลูกค้า พร้อมให้ดอกเบี้ยสูงกว่า 4% ต่อปี โดย ณ เวลา 19.57 น.ตามเวลาไทย ราคาหุ้นแอปเปิ้ลบวก 0.76% สู่ระดับ 166.48 ดอลลาร์

ทั้งนี้ แอปเปิ้ลประกาศเปิดตัวบัญชีเงินฝากออมทรัพย์สำหรับผู้ถือ บัตร Apple Card เมื่อวันจันทร์ (17 เม.ย.)  โดยให้ผลตอบแทนสูงถึง 4.15% ต่อปี

Apple Card เป็นบัตรเครดิตของบริษัทแอปเปิ้ล และออกโดยธนาคารโกลด์แมน แซคส์ เพื่อใช้กับ Apple Pay บนอุปกรณ์แอปเปิ้ล เช่น iPhone, iPad, Apple Watch หรือ Mac เพื่อให้เป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับการจับจ่ายใช้สอยและชำระเงินของผู้บริโภค และเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของแอปเปิ้ลในการที่จะแปลง iPhone ให้กลายเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่สามารถช่วยให้ผู้บริโภคเชื่อมโยงกับระบบนิเวศของซอฟต์แวร์ที่อยู่เบื้องหลังอุปกรณ์ของตัวเอง

Apple Card เป็นบัตรเครดิตของบริษัทแอปเปิ้ล และออกโดยธนาคารโกลด์แมน แซคส์ เพื่อใช้กับ Apple Pay บนอุปกรณ์แอปเปิ้ล

รายงานข่าวระบุว่า บัญชีเงินฝากดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือระหว่างแอปเปิ้ลและโกลด์แมน แซคส์เช่นกัน โดยไม่มีการคิดค่าธรรมเนียม หรือกำหนดเงินฝากขั้นต่ำ ที่สำคัญคือเงินฝากดังกล่าวยังได้รับการคุ้มครองโดย Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) ซึ่งเป็นสถาบันคุ้มครองเงินฝาก(จากการล้มละลายของธนาคาร)ของสหรัฐอีกด้วย โดยมียอดเงินคุ้มครองสูงสุด 250,000 ดอลลาร์

ผู้สนใจสามารถเปิดบัญชีดังกล่าวจากแอปพลิเคชัน Wallet บนเครื่อง iPhone ที่มีระบบปฏิบัติการตั้งแต่ iOS 16.3 ขึ้นไป

หลังจากที่เปิดบัญชีเงินฝากแล้ว Daily Cash หรือ cash back จากการซื้อผลิตภัณฑ์แอปเปิ้ลจะถูกโอนเข้าสู่บัญชีเงินฝากดังกล่าวโดยอัตโนมัติ และเจ้าของบัญชียังสามารถโอนเงินจากบัญชีธนาคารเพิ่มเติมเข้าสู่บัญชีเงินฝากของแอปเปิ้ลด้วย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ แอปเปิ้ลให้บริการบัญชีเงินฝากดังกล่าวสำหรับผู้ที่อยู่ในสหรัฐเท่านั้น

แรงกระเพื่อมสู่วงการธนาคาร

ตามข้อมูลของ FDIC ชี้ว่า อัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยต่อปีของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในสหรัฐ จะอยู่ที่ 0.35% เท่านั้น ดังนั้น การที่อัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของแอปเปิ้ลอยู่ที่ 4.15% ต่อปี จึงถือว่าอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะบรรดาสหภาพสินเชื่อขนาดใหญ่ ธนาคารออนไลน์ และธนาคารที่มีหน้าร้านจริง ต่างก็กำลังแข่งขันกันนำเสนอบัญชีออมทรัพย์ผลตอบแทนสูงเพื่อดึงดูดใจลูกค้าในเวลานี้ อาทิ

  • ธนาคาร CIT Bank (ซึ่งเป็นธนาคารในเครือ First-Citizens Bank & Trust Company) เสนอบัญชีออมทรัพย์พร้อมอัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยต่อปีที่ 4.75% เมื่อลูกค้าฝากเงินขั้นต่ำ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • Marcus by Goldman Sachs ซึ่งเป็นธนาคารออนไลน์ มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 3.9% โดยไม่มียอดเงินขั้นต่ำหรือค่าธรรมเนียมรายเดือน
  • ส่วนบัญชีออมทรัพย์ของ Capital One ไม่มียอดเงินขั้นต่ำ และผู้ใช้สามารถรับอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ 3.5%
  • Vio Bank เสนอบัญชีออมทรัพย์พร้อมอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ 4.77% โดยไม่มียอดเงินขั้นต่ำ เป็นต้น

อี้หมิง หม่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการเงินแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ให้ความเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยที่ดีเมื่อรวมกับการรับรู้ถึงแบรนด์ที่มีอยู่ของแอปเปิ้ล อาจดึงดูดใจลูกค้าใหม่เป็นพิเศษ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของอุตสาหกรรมการธนาคารหลังจากการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ทั้งนี้ มองว่า ข้อได้เปรียบก็คือ ความเป็นแอปเปิ้ล “ทุกคนรู้ว่า Apple คืออะไร และหลายคนมี Apple Card อยู่แล้ว

ด้านไฟแนนเชียลไทม์ สื่อใหญ่ของอังกฤษ ยังรายงานด้วยว่า การเปิดตัวบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของแอปเปิ้ล และโกลด์แมน แซคส์ เมื่อต้นสัปดาห์ โดยจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 4.15% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราสูงมากระดับต้นๆ ในตลาด อาจกลายเป็นภัยคุกคามใหม่สำหรับธนาคารแบบดั้งเดิม

สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ฝากเงินในสหรัฐกำลังดึงเงินสดออกจากบัญชีธนาคารดั้งเดิมที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ไปหาผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่นๆ แทน เช่น กองทุนรวม หรือตั๋วเงินคลัง (Treasury Bills) ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า โดยใช้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Savings Rate) ในบัญชีเงินฝากของธนาคารในสหรัฐโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.37% เท่านั้น ตามข้อมูลของรัฐบาล เทียบกับอัตราอ้างอิงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ 4.75-5%

รายงานข่าวระบุว่า ในขณะนี้ ธนาคารใหญ่ 3 แห่งในสหรัฐ ได้แก่ Charles Schwab, State Street และ M&T Bank รายงานว่า ได้เห็นการไหลออกของเงินฝากรวมกันเกือบ 60,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากผู้ฝากพยายามโยกย้ายเงินไปในแหล่งที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า บรรดาธนาคารแบบดั้งเดิมกำลังได้รับแรงกดดันมากขึ้น และจะยิ่งมากขึ้นกว่าเดิมขึ้นไปอีกเมื่อต้องเผชิญกับคู่แข่งหน้าใหม่อย่างแอปเปิ้ลที่มาพร้อมกับข้อเสนอใหม่ๆที่น่าดึงดูดใจ