อดีต กนง. จี้แบงก์ชาติคุม "ค่าธรรมเนียมถอนเงินไม่ใช้บัตร"

02 เม.ย. 2566 | 14:18 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2566 | 14:39 น.

อดีตคณะกรรมการ กนง. ไม่เห็นด้วยแบงก์เก็บ ค่าธรรมเนียมถอนเงินไม่ใช้บัตร ชี้ต้นทุนไม่น่าสูงขึ้น ไม่ตอบโจทย์ช่วยคนลดใช้เงินสด แนะพัฒนาระบบโอนเงินเพิ่มความสะดวก

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ว่า จากการที่ธนาคารจะะจัดเก็บ "ค่าธรรมเนียมถอนเงินสดไม่ใช้บัตร" เรื่องดังกล่าวนั้นมองว่าไม่ควรดำเนินการ และไม่เห็นด้วย

เนื่องจากต้นทุนของทางธนาคารในการถอนเงินผ่านแอปพลิเคชันโดยไม่ใช้บัตรน่าจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่ารูปแบบบัตร ATM เพราะบัตร ATM มีต้นทุนที่เพิ่มจากตัวบัตร รวมทั้งกรณีสูญหายยังเป็นต้นทุนของทางธนาคาร และประชาชนผู้ใช้บริการ

อย่างไรก็ตามทางธนาคารควรคำนึงถึง ความสะดวก และความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ เป็นหลัก เนื่องจากการถอนเงินโดยไม่ใช้บัตรมีความปลอดภัย และสะดวกกว่าการพกพาบัตร ATM

พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน

ส่วนกรณีการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว เพื่อเป็นการผลักดันให้ลดการใช้เงินสดคงเป็นเรื่องที่ไม่ตรงจุด และไม่ตอบโจทย์ ซึ่งหากมองในมุมตรงข้ามประชาชนอาจถอนเงินน้อยครั้งลง แต่ถอนวงเงินมากขึ้นเพื่อถือเงินสดไว้ใช้แทน เพราะกลัวการเสียค่าธรรมเนียม

“ธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องออกมาให้ความชัดเจน ในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว เนื่องจากค่าธรรมเนียมอัตราถอนเงินครั้งละ 10 บาท ถือว่ามีผลกระทบต่อประชาชน เพราะหากถอนเงินไม่ใช้บัตร 10 ครั้ง เท่ากับป็นต้นทุนถึง 100 บาท” นายพรายพล กล่าว

ทั้งนี้ธนาคารหลายแห่ง เตรียมประกาศแจ้งให้ลูกค้ารับทราบถึงการเก็บค่าธรรมเนียมถอนเงินสดไม่ใช้บัตร ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าธนาคารต้องจ่ายค่าธรรมเนียมถอนเงินสดไม่ใช้บัตรถึงครั้งละ 10 บาท หากต้องการถอนสดเงินผ่านตู้ ATM 

ขณะที่ล่าสุด ธนาคารกรุงไทย ได้ประกาศให้ลูกค้าทราบว่า ธนาคารจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตร (Cardless ATM Withdrawal) ครั้งละ 10 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป โดยมีเหตุผลว่า เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัล และลดการใช้เงินสด

อ่านเพิ่มเติม : ธนาคารเตรียมเก็บ "ค่าธรรมเนียมถอนเงินไม่ใช้บัตร" 10 บาท รับสังคมไร้เงินสด