คาดเฟดเบรกขึ้นดอกเบี้ยสัปดาห์หน้า หลังวิกฤตแบงก์ลามยุโรป

16 มี.ค. 2566 | 07:19 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2566 | 07:37 น.

นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ (21-22 มี.ค.) และจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 1% ภายในสิ้นปีนี้ หลังพบว่าวิกฤตธนาคารได้ลุกลามจากสหรัฐไปยังยุโรป

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 52.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค.2566 และให้น้ำหนักเพียง 48.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%

นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 67.3% ที่อัตราดอกเบี้ยเป้าหมายของเฟดจะลดลงสู่ระดับ 3.50-3.75% ในเดือนธ.ค. จากปัจจุบันที่ระดับ 4.50-4.75% ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากถึง 1.00% ในปีนี้
 

นักลงทุนพากันเทขายหุ้นเครดิต สวิส ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ หลังธนาคารซาอุดี เนชั่นแนล แบงก์ (Saudi National Bank) หรือ SNB ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของเครดิต สวิส ประกาศว่า SNB ไม่สามารถเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินต่อเครดิต สวิส เนื่องจากจะทำให้ SNB ถือหุ้นในเครดิต สวิสมากกว่า 10% ซึ่งจะเป็นการทำผิดกฎระเบียบธนาคาร

ก่อนหน้านี้ เครดิต สวิสเปิดเผยว่า ธนาคารขาดทุนสุทธิ 1.4 พันล้านฟรังก์สวิสในไตรมาส 4/2565 โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.32 พันล้านฟรังก์สวิส ส่งผลให้ยอดขาดทุนตลอดทั้งปีอยู่ที่ 7.3 พันล้านฟรังก์สวิส
 

นอกจากนี้ ลูกค้าแห่ถอนเงินฝากมากกว่า 1.10 แสนล้านฟรังก์สวิสในไตรมาส 4/2565 ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับข่าวอื้อฉาวของธนาคารในการทำผิดกฎระเบียบ และความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดี

ข่าว"เครดิต สวิส" ได้ซ้ำเติมความกังวลของนักลงทุน หลังการล่มสลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB ซึ่งถือเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดของภาคธนาคารสหรัฐนับตั้งแต่เลห์แมน บราเธอร์สล้มละลายในปี 2551

ทั้งนี้ เฟดดำเนินนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุกในช่วงที่ผ่านมาเพื่อสกัดเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวก็ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ซึ่งรวมถึงธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งเป็นฐานลูกค้าสำคัญของ SVB

นอกจากนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดยังได้ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลดีดตัวขึ้นตาม และส่งผลให้ราคาพันธบัตรปรับตัวลง เนื่องจากราคาพันธบัตรจะปรับตัวผกผันต่ออัตราผลตอบแทน

รัฐบาลสหรัฐสั่งปิดกิจการของ SVB หลังจากที่ราคาหุ้น SVB ทรุดตัวลงอย่างหนัก ท่ามกลางความกังวลว่าจะเกิดการเพิ่มทุนจำนวนมากเพื่อชดเชยการขาดทุนมหาศาลจากการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดย SVB จำเป็นต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำกว่าหน้าตั๋ว เนื่องจากราคาพันธบัตรปรับตัวลงสวนทางกับดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นตามนโยบายเฟด ขณะที่ธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยีได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง และได้แห่ถอนเงินฝากจาก SVB