"กรุงศรี" ปล่อยกู้ SUPER กว่า 1,000 ล้านบาท ขยายโรงไฟฟ้า

15 มี.ค. 2566 | 12:01 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2566 | 12:09 น.

แบงก์กรุงศรี ปล่อยกู้ SUPER กว่า 1,000 ล้านบาท พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า SPP HYBRID ขนาด 16 MW จังหวัดสระแก้ว ด้าน“จอมทรัพย์ โลจายะ" ลั่นเป้ารายได้ปีนี้ เติบโต 10-15 %

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SUPER) เปิดเผยว่า บริษัท ซุปเปอร์ โซล่าร์ ไฮบริด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา  จำกัด (มหาชน)  (BAY)  โดยได้รับวงเงินสินเชื่อ (Project Financing) จำนวนกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาโครงการ SPP HYBRID ในจังหวัดสระแก้ว ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 16 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ โครงการ SPP HYBRID เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับแบตเตอรี่ โดยสามารถผลิต และขายไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระยะเวลา 13 ปี 6เดือน กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)  ในอัตราค่าไฟเฉลี่ย 2.97 บาท/หน่วย ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

 

\"กรุงศรี\" ปล่อยกู้  SUPER กว่า 1,000 ล้านบาท ขยายโรงไฟฟ้า
 

"ผมต้องขอบคุณธนาคารกรุงศรีฯ ในการปล่อยเงินกู้ในครั้งนี้  โดยจะนำเงินมาใช้เพื่อการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับแบตเตอรี่ ( SPP HYBRID ) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินที่มีต่อบริษัทฯ รวมถึงศักยภาพของโครงการ    ซึ่งที่ผ่านมานับจากวัน COD  มีผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องมาโดยตลอด  รวมทั้ง SUPER เตรียมความพร้อมในฐานเงินทุนสำหรับการลงทุนที่กำลังจะเกิดขึ้นรอบใหม่ในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในอนาคตไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาด้านพลังงานที่เปิดขึ้นมาใหม่ทั้งในประเทศไทย เวียดนาม หรือ ในประเทศอื่นๆ ” นายจอมทรัพย์กล่าว
 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SUPER กล่าวอีกว่า บริษัทฯมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ดี  และมีความพร้อมดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าโดยมีแผนขยายโรงไฟฟ้าทุกรูปแบบ  โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานแล้ว 1,608.32 เมกะวัตต์ จำนวน 133 โครงการ และตั้งเป้าหมายอีก 1,000 เมกะวัตต์ในปี 2568 หรือมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มที่ระดับ 2,600 เมกะวัตต์ โดยมาจาก โครงการโรงไฟฟ้าจากขยะ โซลาร์รูฟท็อป โครงการการขยายงานสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชน (Private PPA) รวมทั้งโครงการ PDP ในประเทศและในเวียดนาม เป็นต้น  ซึ่งจะทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น ขณะที่ปี 2566 ตั้งเป้ารายได้เติบโต 10 – 15% จากปีก่อน