ตะลึง 10 สาเหตุ เหยื่อแชร์ลูกโซ่ นักกฎหมาย ตำรวจ-ทหาร ก็ไม่รอด

11 มี.ค. 2566 | 06:45 น.
648

เปิดงานวิจัยดีเอสไอ ตะลึง 10 สาเหตุ เหยื่อแชร์ลูกโซ่ไม่เคยหมดไป ลงทุนหลายแสน หลายล้าน กับคนที่ไม่เคยพบหน้า งานนี้ นักกฎหมาย นักบัญชี ตำรวจ-ทหาร ก็ไม่รอด

การหลอกลงทุนออนไลน์ไม่เคยหายไป และเหยื่อที่ตกเป็นผู้เสียหาย มูลค่าหลายแสน หลายล้านบาทก็ไม่เคยลดลง เคยสงสัยไหมว่า แม้ภาครัฐ และเอกชน จะประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลลวงของเหล่ามิจฉาชีพมากเพียงใด แต่ก็มิได้ส่งผลให้ตัวเลขของเหยื่อผู้เสียหายจากการหลอกลงทุนลดจำนวนลง

ล่าสุด กองธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เผยแพร่งานวิจัยเรื่อง ดีเอสไอ นวัตกรรมการป้องกันแชร์ลูกโซ่ออนไลน์ เพื่อศึกษาแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันแชร์ลูกโซ่ นำไปสู่การสร้าง รวมถึงพัฒนาแอปพลิเคชันในการตรวจสอบ และป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่

งานวิจัย แชร์ลูกโซ่

ข้อมูลส่วนหนึ่งในการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการหลอกลงทุนออนไลน์ มีความน่าสนใจ และถือเป็น 10 สาเหตุที่น่าตกใจ ซึ่งหากสามารถแก้ไขสาเหตุเหล่านี้ได้ ย่อมเป็นการปิดประตูจากมิจฉาชีพที่มุ่งหลอกลวงด้วยการลงทุน หรือการหลอกลวงในลักษณะแชร์ลูกโซ่เหล่านี้ได้

ผลการวิจัยแชร์ลูกโซ่ที่น่าตกใจ 10 ข้อ

  1. ผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่ร้อยละ 85 รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าเป็นการลงทุนแชร์ลูกโซ่ แต่ก็ยังลงทุน เพราะต้องการได้รับผลตอบแทนสูงตามการเชิญชวน มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่ไม่รู้เลยจริงๆว่าที่ตนเองนำเงินไปลงทุนเป็นการลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่ 
  2. ผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่ร้อยละ 65 โอนเงินเข้าบัญชีชื่อบริษัท แสดงให้เห็นว่าถึงแม้ว่าท่านจะโอนเงินเข้าบริษัทที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฏหมาย กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านจะไม่ถูกหลอกลวงจากแชร์ลูกโซ่
  3. ผู้เสียหายจากการถูกหลอกลงทุนในแชร์ลูกโซ่ ไม่กล้าเข้าแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากเกิดความอับอาย หรือไม่ต้องการให้ครอบครัวรับรู้ เป็นต้น จึงทำให้มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความเพียง 1 ใน 5 ของจำนวนผู้ที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น
  4. สื่อโซเชียลมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของเหยื่อ เนื่องจากผลการวิจัยพบว่า กว่าร้อยละ 50 ของผู้ที่เสียหายคดีแชร์ลูกโซ่ ได้รับการชักชวนให้ลงทุนจากทางโซเชียลมีเดีย มากกว่าช่องทางอื่นๆ
  1. ผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่ร้อยละ 68 เชื่อและตัดสินใจที่จะลงทุนแม้จะยังไม่เคยได้พบกับผู้ที่ชักชวนลงทุน
  2. ผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่ ใช้ช่องทางการสื่อสารกับมิจฉาชีพ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook LINE ฯลฯ ถึงร้อยละ 65 และพบว่าธุรกิจแชร์ลูกโซ่ นิยมใช้ช่องทางการสื่อสารเหล่านี้ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง 
  3. ผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่ร้อยละ 93 เชื่อใจและมั่นใจโดยโอนเงินไปลงทุนกับธุรกิจที่ตนไม่เคยเลยแม้แต่จะเดินทางไปยังสถานที่ประกอบธุรกิจที่ตนเองตัดสินใจลงทุน
  4. ผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่ร้อยละ 71 เป็นกลุ่มที่มีงาน มีรายได้ประจำ และมีเงินเดือนอยู่ในระดับสูงกว่า 40,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมีหลากหลายอาชีพที่ตกเป็นเหยื่อ เช่น ข้าราชการ ,พนักงานบริษัท ,พนักงานรัฐวิสาหกิจ ,แพทย์ ,พยาบาล ,อาจารย์ ,นักบิน ,นักกฎหมาย ,นักบัญชี ,ตำรวจ ทหาร, ทนายความ ,วิศวกร ,พนักงานธนาคาร ,ข้าราชการเกษียณอายุ
  5. ผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 38 ไม่รู้จักตัวผู้แนะนำให้ลงทุน เนื่องจากสมัครลงทุนผ่านทางโซเชียล และโต้ตอบผ่านแชทข้อความหรือทาง LINE หรือโทรศัพท์พูดคุยเท่านั้น 
  6. หากช่องทางการสื่อสารทางออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ และโทรศัพท์ถูกระงับ หรือปิดลงผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่ร้อยละ 92 ไม่รู้จะทำอย่างไรติดต่อไม่ได้ กลายเป็นผู้เสียหายในทันที