เรื่องควรรู้ก่อนวางแผนทำประกันสุขภาพของมนุษย์เงินเดือน

02 มี.ค. 2566 | 07:42 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มี.ค. 2566 | 07:50 น.
660

เป็นเรื่องดีที่คนในวัยทำงานหลายคนอยู่ในองค์กรที่มีประกันสุขภาพแบบกลุ่ม อย่างไรก็ตาม มีหลายคนที่สนใจทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมจากสวัสดิการที่มี แต่ก่อนตัดสินใจควรพิจารณาว่ามีความจำเป็นหรือไม่

 

ชีวิต คือ ความไม่แน่นอน มีความเสี่ยงหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ โดยหนึ่งในความเสี่ยงที่สร้างผลกระทบกับการดำรงชีวิตประจำวัน รวมไปถึงอาจรุนแรงถึงการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินของคนคนหนึ่งได้อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ คือ ความเสี่ยงด้านสุขภาพ การเจ็บไข้ได้ป่วย โดยเฉพาะการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง หรือภาวะการเจ็บป่วยเรื้อรังต่าง ๆ

เป็นเรื่องดีที่คนในวัยทำงานหลายคนได้ทำงานอยู่ในองค์กรที่มีประกันสุขภาพแบบกลุ่มช่วยดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม มีหลายคนที่สนใจทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมจากสวัสดิการที่บริษัททำให้ ซึ่งแน่นอนว่าสามารถทำได้ แต่ก่อนตัดสินใจควรพิจารณาว่าตัวเองมีความจำเป็นที่จะต้องทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมอีกหรือไม่ และหากต้องทำเพิ่มเติม จะต้องทำอย่างไร ซึ่งมี 3 เรื่องที่ต้องคำนึง ดังนี้
 

1.ประกันกลุ่ม เป็นสวัสดิการที่บริษัทมีให้สำหรับบุคคลที่มีสถานะเป็นพนักงานของบริษัทเท่านั้น หากพนักงานลาออก เกษียณ หรือพ้นจากสภาพการเป็นพนักงานของบริษัทไม่ว่าด้วยเหตุผลใด สวัสดิการเหล่านั้นก็จะไม่ได้ติดตัวตามมาด้วย

ดังนั้น ผู้ที่วางแผนจะออกจากงาน โดยเฉพาะหากจะลาออกมาเป็นเจ้าของกิจการหรือทำงานอิสระเอง จึงมีความสำคัญและจำเป็นที่จะต้องวางแผนหรือคำนึงถึงเรื่องการทำประกันสุขภาพ เพื่อให้เป็นสวัสดิการของตนเองทดแทนประกันแบบกลุ่มที่เคยได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากทุกวันที่ผ่านเลยไป หมายถึง อายุที่มากขึ้น และโอกาสที่จะเจ็บป่วยหรือมีปัญหาด้านสุขภาพอาจมากขึ้นตามไปด้วย หากไปสมัครทำประกันสุขภาพในช่วงเวลานั้นที่มีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นแล้ว ค่าใช้จ่ายการทำประกันก็จะสูงขึ้นเนื่องจากบริษัทประกันอาจจะรับทำประกันโดยมีเบี้ยประกันส่วนเพิ่ม หรืออาจจะไม่รับคุ้มครองความเจ็บป่วยที่มีขึ้นก่อนหน้า หรืออาจจะไม่รับทำประกันเลยก็เป็นไปได้

2.เงินเฟ้อของค่ารักษาพยาบาล เป็นอัตราที่สูงมากถึง 7 - 8% ต่อปี หมายความว่า ภายในระยะเวลาประมาณ 8 – 10 ปี ค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการทางการแพทย์ต่าง ๆ อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า วงเงินค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับจากประกันกลุ่มที่มีอยู่เพียงทางเดียวจึงอาจจะไม่เพียงพอกับค่ารักษาพยาบาลที่ปรับสูงขึ้นอีกในอนาคต จึงจำเป็นต้องพิจารณาในแต่ละบุคคลว่ามีความต้องการที่จะได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากประกันสุขภาพที่ทำเพิ่มเติมไว้เองด้วยหรือไม่

 

3. ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องในการเจ็บป่วย เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับการรักษา ค่าจ้างคนดูแลสำหรับกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมถึงค่าเสียโอกาสจากการไม่ได้ไปประกอบอาชีพ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ โดยส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการชดเชยในรูปแบบของประกันกลุ่ม

หากมีความจำเป็นที่จะต้องทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม ในแง่ของการวางแผนประกันสุขภาพ สามารถพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ดังนี้  

ประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของตนเองและรูปแบบการใช้ชีวิต โดยดูจากประวัติด้านสุขภาพและความเจ็บป่วยของตนเอง บุคคลในครอบครัวและญาติพี่น้อง เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตส่งผลต่อคุณภาพของสุขภาพและเกี่ยวเนื่องกับโรคบางโรค โรคร้ายแรงบางกลุ่มยังสามารถส่งต่อและถ่ายทอดทางพันธุกรรม ให้พิจารณาร่วมกับสถานพยาบาลที่เรามีแนวโน้มจะได้ใช้รักษาหรือที่ใช้บริการอยู่เป็นประจำ ซึ่งจะมีค่ารักษาพยาบาลและรูปแบบการรักษาที่แตกต่างกัน จะทำให้ประเมินความคุ้มครองของวงเงินการรักษาที่ต้องใช้ได้

เปรียบเทียบความคุ้มครองที่ต้องการ (วงเงินการรักษา) กับวงเงินการรักษาที่มีอยู่จากสวัสดิการประกันกลุ่ม เพื่อพิจารณาและหาความคุ้มครองที่ต้องการเพิ่มเติม หรือความคุ้มครองที่ต้องใช้ ในกรณีที่ออกจากงาน ในวันที่ไม่มีสวัสดิการประกันกลุ่มอีกต่อไป เพื่อนำไปเลือกแบบประกัน

แบบประกันสุขภาพ จะมีทั้งรูปแบบที่กำหนดวงเงินค่ารักษาสูงสุดที่จะจ่ายตามค่ารักษาที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละรายการ แต่ไม่เกินค่าวงเงินสูงสุดที่กำหนดไว้ และประกันแบบเหมาจ่ายที่จะกำหนดวงเงินความคุ้มครองสูงสุดสำหรับบางรายการ และกำหนดวงเงินความคุ้มครองในลักษณะแบบเหมาจ่ายโดยรวมสำหรับความคุ้มครองรายการอื่น ๆ ที่เหลือ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายจะมีค่าเบี้ยประกันโดยรวมที่สูงกว่าแบบประกันที่กำหนดวงเงินค่ารักษาแต่ละรายการ

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ เบี้ยประกันสุขภาพจะปรับขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะหากเป็นช่วงที่อายุมากขึ้นหลังเกษียณจะมีเบี้ยประกันที่สูงมาก ควรตรวจสอบความเป็นไปได้ในการจัดการสภาพคล่องของเราในอนาคต เพื่อให้ชำระเบี้ยประกันได้ตลอดระยะเวลาที่สัญญาคุ้มครอง หลักเกณฑ์ทั่วไปคือ อัตราส่วนเบี้ยประกันเทียบกับรายได้ควรจะอยู่ที่ประมาณ 10 - 15% ของรายได้รวม เพื่อไม่ให้การชำระเบี้ยประกันสุขภาพเป็นภาระที่หนักเกินไป

หากมีความจำเป็นต้องควบคุมค่าใช้จ่ายในการทำประกันสุขภาพ สามารถเลือกแบบประกันสุขภาพที่มีค่า Deductible หรือความรับผิดส่วนแรก ที่สามารถเคลมได้จากสวัสดิการที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าเบี้ยประกันสุขภาพได้มากยิ่งขึ้น เช่น เลือกทำประกันสุขภาพแบบที่มี “รับผิดส่วนแรก (Deductible)” 30,000 บาท หากค่าการรักษาพยาบาลทั้งหมด 100,000 บาท บริษัทประกันจะคุ้มครอง 70,000 บาท และผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบ 30,000 บาทแรก

ซึ่งค่าใช้จ่ายในความรับผิดส่วนแรกมูลค่า 30,000 บาท ผู้เอาประกันสามารถใช้วงเงินจากประกันสุขภาพฉบับเดิมที่มีอยู่แล้วหรือวงเงินสวัสดิการของบริษัทในการชำระได้ เท่ากับว่าผู้เอาประกันจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มทั้งสิ้น หรือพิจารณารับความเสี่ยงด้านสุขภาพไว้เองในบางส่วน ด้วยการสำรองเงินไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายส่วนนี้ รวมทั้งการวางแผนนำเงินสำรองไปลงทุนให้งอกเงย เปรียบได้กับการสร้างแผนการลงทุนเพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง ซึ่งหากเป็นการเก็บออมในระยะยาวแล้ว อาจรับความเสี่ยงบางส่วนเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น

นอกจากการทำประกันสุขภาพซึ่งเป็นวิธีการจัดการความเสี่ยงในรูปแบบการโอนความเสี่ยงแล้ว สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไป คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตและดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงในเชิงป้องกัน หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และดูแลเรื่องอาหารการกิน การพักผ่อน และสภาวะจิตใจเพื่อช่วยลดและควบคุมความเสี่ยงด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

ที่มา: www.setinvestnow.com, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th