ค่าเงินบาท “อ่อนค่า” ใครได้ประโยชน์ - เสียประโยชน์

27 ก.พ. 2566 | 17:51 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.พ. 2566 | 18:13 น.
693

ค่าเงินบาท “อ่อนค่า” ใครได้ประโยชน์ - เสียประโยชน์ เช็คผลพวงจากกรณีอัตราแลกเปลี่ยนเกิดความผันผวน ธุรกิจไหน และใครบ้าง ต้องเตรียมตัวรับผลกระทบที่เกิดขึ้น

ค่าเงินบาทอ่อนค่า ณ ปัจจุบัน กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หลังจากเช้าวันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2566) ค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 34.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในระหว่างวันค่าเงินบาทอ่อนค่าจนหลุดระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเป็นที่เรียบร้อย 

โดย กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประเมินทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.65-35.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือน สอดคล้องกับหลายสกุลเงินในภูมิภาค

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพประกอบข่าว ค่าเงินบาท อ่อนค่า และอัตราแลกเปลี่ยน

ค่าเงินบาทอ่อนค่า หรือ บาทอ่อน คืออะไร

ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง หมายความว่า เงินบาทมีค่าน้อยลงหรือถูกลง จากเดิม เช่น เมื่อวานนี้สามารถใช้เงิน 34 บาท แลกเปลี่ยนเงินในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่วันนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่า โดยอัตราแลกเปลี่ยนถูกปรับเป็น 35 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ สถานการณ์แบบนี้เรียกว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

ตรงกันข้ามกัน ในกรณีค่าเงินบาทแข็งค่า หมายถึง เงินบาทมีค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ตัวอย่างเช่น เมื่อวานนี้สามารถถใช้เงิน 34 บาท แลกเปลี่ยนเงินในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่วันนี้อัตราแลกเปลี่ยนถูกปรับเป็น 33 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ นั่นคือ เงินบาทมีค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 

สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินแข็งค่า-อ่อนค่า

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อธิบายว่า เงินแต่ละสกุลมีลักษณะเหมือนสินค้าที่ราคาขึ้นลงจากกลไกตลาด หรือกำหนดจากอุปสงค์และอุปทานเงินตราของแต่ละประเทศ เช่น กรณีเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หากมีความต้องการซื้อเงินบาทมากขึ้น โดยเอาเงินดอลลาร์สหรัฐมาขาย เงินบาทจะแพงขึ้น (แข็งค่าขึ้น) ในทางกลับกันหากมีความต้องการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น โดยเอาเงินบาทมาขาย เงินบาทจะถูกลง (อ่อนค่าลง) 

 

ภาพประกอบข่าว ค่าเงินบาท อ่อนค่า และอัตราแลกเปลี่ยน

ผลกระทบจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ใครได้ประโยชน์

ผู้ส่งออก : การส่งออกสินค้าเท่าเดิม ได้รับชำระเป็นเงินดอลลาร์เท่าเดิม แต่สามารถแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น 

คนไทยทำงานในต่างประเทศ : สามารถนำค่าจ้างในต่างประเทศ กลับมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น

ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินต่างประเทศ : สามารถนําเงินตราต่างประเทศมาแลกเงินบาทได้มากขึ้น

 

ภาพประกอบข่าว ค่าเงินบาท อ่อนค่า และอัตราแลกเปลี่ยน

 

ผลกระทบจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ใครเสียประโยชน์

ผู้นำเข้า : ผู้นำเข้าต้องจ่ายเงินเท่าเดิม ได้ของน้อยลง หรือนำเข้าสินค้าเท่าเดิมในราคาที่สูงขึ้น 

นักลงทุน : นักลงทุนที่ต้องนำเข้าเครื่องจักร และอุปกรณ์ ต้องจ่ายเงินไปในราคาที่สูงขึ้น 

ผู้ที่เป็นหนี้กับต่างประเทศ : กลุ่มนี้จะต้องใช้เงินบาทมากขึ้น ในการชำระหนี้เท่าเดิม 

คนไทยไปเที่ยว นักศึกษาที่จะไปเรียนต่างประเทศ : ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเมื่อเทียบเป็นเงินบาท 

คนทั่วไป : ต้องซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศในราคาที่สูงขึ้น