น้องใหม่ BVG พร้อมเข้าเทรดตลาด mai 17 ก.พ. นี้

16 ก.พ. 2566 | 15:20 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.พ. 2566 | 15:30 น.

บมจ. บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป หรือ BVG พร้อมเริ่มซื้อขาย 17 ก.พ. นี้ หลังเปิดจอง IPO หุ้นละ 3.85 บาท เมื่อวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

บมจ. บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป หรือ BVG เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชันบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประกันภัยรถยนต์ในประเทศไทย พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) 17 ก.พ. นี้ ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO ที่ 1,732.5 ล้านบาท  โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “BVG” โดยเมื่อวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2566 เปิดจอง IPO ในราคาหุ้นละ 3.85 บาท คิดเป็นมูลค่าเสนอขาย 606.375 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,732.5 ล้านบาท

BVG มีทุนชำระแล้วหลัง IPO ที่ 225 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 360 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุน 90 ล้านหุ้น

ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ 32.08 เท่า คำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด (ไตรมาส 4/2564 ถึง ไตรมาส 3/2565) ซึ่งเท่ากับ 51.86 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.12 บาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ mai ยินดีต้อนรับ บมจ. บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายใน mai ภายใต้กลุ่มเทคโนโลยี โดย BVG เป็นบริษัทย่อยของ บมจ. ไทยรับประกันภัยต่อ (THRE) ประกอบธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประกันภัยรถยนต์ (ระบบ EMCS) และมีบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% อีก 3 แห่ง

บริษัทย่อย 3 บริษัทประกอบด้วย

  • บริษัท บลูเวนเจอร์ ทีพีเอ จำกัด ให้บริการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและสินไหมทดแทน รวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำที่เกี่ยวข้อง ผ่านแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน
  • บริษัท บลูเวนเจอร์ แอคชัวเรียล จำกัด ให้คำปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย
  • บริษัท บลูเวนเจอร์ เทค จำกัด ให้บริการนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

ทั้งนี้ปัจจุบัน BVG มีฐานลูกค้าที่เป็นบริษัทประกันภัยมากที่สุดในประเทศจำนวน 34 บริษัท มีส่วนแบ่งการตลาดในงวด 9 เดือนแรกปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 41.3 คำนวณจากจำนวนการเคลมประกันรถยนต์ผ่านระบบ EMCS เทียบกับประมาณการจำนวนการเคลมประกันรถยนต์ในประเทศไทย และในงวด 9 เดือนแรกปี 2565 กลุ่มบริษัทมีโครงสร้างรายได้จากระบบ EMCS : บริการ TPA : บริการอื่นและรายได้อื่น เท่ากับ 42 : 43 : 15

นางนวรัตน์ วงศ์ฐิติรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป (BVG) เปิดเผยว่า บริษัทให้บริการระบบ EMCS เป็นรายแรก และเป็นหนึ่งในผู้นำในประเทศไทย นอกจากมีฐานลูกค้าที่เป็นบริษัทประกันภัยมากที่สุดแล้ว ยังมีลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเคลมประกันภัยรถยนต์กว่า 3,700 รายทั่วประเทศ อาทิ

ส่วนบริการ TPA บริษัทครอบคลุมสถานพยาบาลเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงคลินิกทั่วประเทศมากกว่า 500 แห่ง ทั้งนี้ BVG มีเป้าหมายในการพัฒนาซอฟต์แวร์ และออกแบบนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านประกันภัย ให้ครอบคลุมทุกกระบวนการของธุรกิจ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำและเพื่อประโยชน์ของคู่ค้าที่เกี่ยวข้อง

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะนำไปใช้ในการพัฒนาระบบ AI และระบบสารสนเทศ ขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน โดยการลงทุนหรือร่วมทุนกับบริษัทอื่น และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ

บมจ. บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป จดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2565 โดยแปรสภาพมาจาก บริษัท อีเอ็มซีเอส ไทย จำกัด ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 225,000,000 บาท

คณะกรรมการ บมจ. บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป ประกอบด้วย

  1. นายโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์
  2. นางฐิตาพร ธารากิจ 
  3. นางนวรัตน์ วงศ์ฐิติรัตน์
  4. นางโสภา กาญจนรินทร์ 
  5. นายอุดมการ อุดมทรัพย์
  6. นายศรัณย์ ชูเกียรติ       
  7. นายสิงหะ นิกรพันธุ์