"กำไรQ4/65 อย่างแบด" กดดันต่างชาติพลิกกลับเป็นขาย 3.2 พันล้าน

15 ก.พ. 2566 | 14:45 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2566 | 14:50 น.

เอเซียพลัส ระบุ กำไรบจ.Q4/65 ที่รายงานออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด 22% ส่งผลให้โฟลว์ที่เคยไหลเข้าหุ้นไทยสูงถึง 2.2 หมื่นล้าน พลิกกลับเป็นขายสุทธิ 3.2 พันล้าน คาดยังคงกดดันตลาดตลอดเดือนนี้

 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส ( ASPS) ระบุในบทวิเคราะห์ (15 ก.พ.66 ) ว่าการประกาศงบ Q4/65 ที่รายงานออกมาแล้วต่ำกว่าตลาดคาด 22.2% ส่งผลให้ Fund Flow ที่เคยไหลเข้าหุ้นไทยสูงถึง 2.2 หมื่นล้านบาท (ตั้งแต่ 1-27 ม.ค. 66) แต่ปัจจุบันมีมูลค่าซื้อขายสะสม (1 ม.ค.- 14 ก.พ.66 ) ลดลงมาเร็วจนกลับเป็นขายสุทธิ 3,271 ล้านบาท  

ล่าสุดมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ได้รายงานงบออกมาแล้ว 65 บริษัท ( Market Cap 38%) มีกำไรสุทธิรวม 7.0 หมื่นล้านบาท ลดลง -33.2% QoQ และ -23.4%YoY 

ขณะที่ประมาณการกำไรปี 2566 ของฝ่ายวิจัยฯอยู่ที่ 1.27 ล้านล้านบาท หรือ 99.2 บาท/หุ้น ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ 97.4 บาท/หุ้น (ลดลงราว 2%) ซึ่งมาจากการปรับประมาณการลงจาก กลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ อาทิ TOP BPP BCPG IVL เป็นต้น ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีสัดส่วนกำไรในภาวะปกติราว 34% ของกำไรทั้งหมด

 

หากพิจารณากลุ่มอื่นๆ อาทิ COMM FOOD TRANS FIN HELTH ที่มีสัดส่วนกำไรรวมกว่า 24% ของกำไรบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดนั้น ยังไม่มีประเด็นสำคัญที่ทำให้ประมาณการมี Downside อย่างไรก็ตามประมาณการ EPS66F ยังคงมี Downside จากหุ้นที่ฝ่ายวิจัยฯไม่ได้ทำการศึกษา ซึ่งคงมีความชัดเจนขึ้น หลังผ่านช่วงฤดูกาลประกาศงบปี 2565 เรียบร้อยแล้ว

 

\"กำไรQ4/65 อย่างแบด\" กดดันต่างชาติพลิกกลับเป็นขาย 3.2 พันล้าน

หากพิจารณาในมุม Target SET Index นอกจากมี Downside ของประมาณการ EPS66F ยังมีประเด็นกดดันเพิ่มเติมจากการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ซึ่งฝ่ายวิจัยฯคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสขึ้นอีก 1 ครั้งในปีนี้ (1.75%) ตามกลไกจะกดดัน P/E ตลาดให้ซื้อขายถูกลง 0.73 เท่า เหลือ 16.81 เท่า และเมื่อนำไปคูณกับ EPS66F ที่ระดับ 97.2 -99.2บาท/หุ้น ทำให้Target SET Index อยู่ระหว่าง 1634 - 1667 จุด
 

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส ระบุอีกว่า ระยะเวลาการรายงานงบ งวด Q4/65 กินระยะเวลานานถึงสิ้นเดือน ก.พ. 66  ซึ่งหากออกมาแย่กว่าคาดต่อเนื่อง จะนำไปสู่การปรับประมาณการกำไรลงต่อได้ และมีโอกาสกดดัน Fund Flow ยังชะลอการไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย  

อีกทั้งค่าเงินบาทอาจถูกกดดันให้อ่อนค่าในช่วงสั้น หลังจากนักลงทุนกังวล Fed มีโอกาสเร่งขึ้นดอกเบี้ยในช่วงถัดไปมากขึ้น ตามเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงช้ากว่าคาด ทำให้ต่างชาติมีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยคาดว่าเงินเฟ้อสหรัฐในช่วงเดือน ก.พ. - เม.ย. ยังมีแรงหนุนให้ชะลอตัวลงได้เร็วขึ้น จากฐานราคาน้ำมันปีที่แล้วที่สูงผิดปกติ