เปิดหุ้นรับอานิสงส์ บอร์ด EV เคาะแพ็คเกจ 2.4 หมื่นล้าน หนุนผลิตแบตฯ

03 ก.พ. 2566 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2566 | 09:29 น.
633

บล.ดาโอ มอง 4 หุ้น " EA-GPSC-WHA-NEX " ได้ประโยชน์เต็มๆ จาก'บอร์ดอีวี' ไฟเขียวแพ็คเกจภาษี 2.4 หมื่นล้าน ลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 1% หนุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่

 

จากกรณีที่ประชุม( 2 ก.พ.66)  คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ดฯได้เห็นชอบหลักการมาตรการทางด้านภาษีสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า วงเงิน 24,000 ล้านบาท โดยเห็นชอบการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตจาก 8% ลดเหลือ 1% สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า 

อ่านเพิ่ม :  บอร์ด EV เคาะแพ็คเกจภาษีผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 2.4 หมื่นล้าน

ทั้งนี้เงินสนับสนุนจะขึ้นกับขนาดของโรงงานผลิตแบตเตอรี่และความจุพลังงานจำเพาะของแบตเตอรี่ 

  • สำหรับโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดต่ำกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 400-600 บาท/kWh 
  • หากเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดสูงกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 600-800 บาท/kWh 

โดยการให้เงินสนับสนุนจะอยู่บนหลักการ ลงทุนผลิตก่อน ได้รับเงินสนับสนุนก่อน โดยเงินสนับสนุนที่ภาครัฐให้กับผู้ผลิตแบตเตอรี่จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตของรถยนต์ไฟฟ้าถูกลง ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าขายในตลาดมีราคาถูกลง

 

การประชุมครั้งนี้ ยังได้พิจารณามาตรการขับเคลื่อนการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ซึ่งเป็นรถยนต์กลุ่มใหญ่ของประเทศให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ การจัดตั้งคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องการดัดแปลงรถยนต์ใช้แล้วเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion)

พร้อมกันนี้ยังรับทราบความคืบหน้าของการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ ล่าสุด ระเบียบสามารถเปิดให้หน่วยงานราชการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อใช้ในหน่วยงานได้แล้ว ซึ่งจะสอดคล้องกับมาตรการสนับสนุนการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ที่ได้รับการส่งเสริมไปก่อนหน้านี้

 

หลายบริษัทแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่สนใจลงทุน

ปัจจุบันประเทศไทยได้รับความสนใจจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่ระดับโลกในการมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวีในประเทศ อาทิ ผู้ผลิตรถยนต์จากค่ายจีน และค่ายยุโรป ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของผู้ผลิตแบตเตอรี่ได้มีการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแล้ว เนื่องจากปัจจัยบวกจากนโยบายส่งเสริมหลายประการ ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจมากขึ้น

ด้านนายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ลงทุน บมจ.บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า มาตรการในการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรีสำหรับยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ออกมาครั้งนี้ มองว่าเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีการตั้งโรงงานในไทย

เมื่อพิจารณาแล้ว EA จะได้รับประโยชน์จากการที่ขณะนี้มีโรงงานแบตเตอรีแล้ว มีการขยายกำลังการผลิตเป็น 2 GW หากประเมินจากเงินสนับสนุนที่ได้ จะได้รับกรอบเงินสนับสนุนจากภาครัฐราว 1.2 พันล้านบาท
 

แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาในเรื่องรายละเอียดของการให้เงินสนับสนุนต่อลูกค้าว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปในฐานะผู้ผลิต นอกจากนี้ในกลุ่มของ EA นั้นในส่วนของ NEX และ BYD ก็จะได้รับอานิสงส์ในครั้งนี้ ด้วย

 

4 หุ้น ได้ประโยชน์เต็มๆ แพ็คเกจภาษีแบตฯ 2.4 หมื่นล้าน

โดยสรุป บล.ดาโอ มองหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว ได้แก่  บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ( EA) , บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC ) , บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ,บมจ.บริษัท เน็กซ์ พอยท์ (NEX ) เนื่องจากมองว่ามาตรการสนับสนุนการลงทุนแบตอีวีของกรมสรพสามิตที่มีการลดภาษีเหลือ 1% จากก่อนหน้านี้ที่ 8% รวมถึงการจ่ายเงินอุดหนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่ 2.4 หมื่นล้านบาท จะทำให้ราคาแบตเตอรี่และรถอีวีลดลงได้ เป็นการสนับสนุน Ecosystem ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

EA  :  เป็นผู้ผลิตแบตเตอรีรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ขนาดกำลังการผลิต 1 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง คาดจะได้ประโยชน์จากมาตราการลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 1% และเงินสนับสนุนจากมาตรการเดิมที่ 200 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงจะเป็น upside ต่อรายได้ของ EA ที่ราว 550 ล้านบาทต่อการผลิตแบตเตอรี่ 1 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือคิดเป็นราว 6% ต่อประมาณการปี 2566 ที่ 1.0 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนจะขยายเป็น 2 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง ภายในปี 2566 และขยายสู่ 4 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมงภายในปี้ 2567 

ให้คำแนะนำ "ถือ" ราคาเป้าหมายปี 2566 อยู่ที่ 90.00 บาท

GPSC  :  มีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ปัจจุบันที่ 30 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง โดยมีแผนที่ขยายกำลังการผลิตเป็น 1 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมงภายในปี 2566 

ให้คำแนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมายปี 2566 อยู่ที่ 85.00 บาท

WHA  :  มองเป็น sentiment เชิงบวกต่อการเข้ามาก่อตั้งโรงงานผลิตรถอีวี ถ้าหากต้นทุนการผลิตและราคาแบตเตอรี่ในประเทศไทยลดลง ส่งผลบวกต่อยอด presale และโอนย้ายปี 2566 ที่จะเพิ่มขึ้นสูงมากกว่าคาด ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้ากลุ่ม EV และซัพพลายเชนจำนวน 800-900 ไร่ ที่คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในครึ่งแรกของปี 2566 

ให้คำแนะนำ"ซื้อ" ราคาเป้าหมายปี 2566 อยู่ที่ 4.60 บาท

NEX  :  จากมาตรการสนับสนุนให้ราคาแบตเตอรี่ลดลง จะส่งผลบวกให้แนวโน้มราคาขายรถ E-Bus และ E-Truck ลดลงด้วย ทำให้โอกาสในการขายน่าสนใจมากขึ้น

คงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 24.00 บาท อิงค่า PEG 1 เท่า เทียบเท่าปี 2566 PER ที่ 33 เท่า และคาดว่ากำไรโตเฉลี่ยปี 2566-2568 เติบโต 33%

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า จากมาตรการดังกล่าว จะช่วยลดต้นทุนการผลิตแบตเตอรีของบริษัทลดลงประมาณ 20 เหรียญสหรัฐต่อ kWh หรือ 650 บาทต่อ kWh ซึ่งจะทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมรถ EV คึกคักขึ้น จากราคารถที่ถูกลง ทำให้มีคนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น 

ธุรกิจอีวีของ EA จะแบ่งเป็น 3 ส่วน อาทิ ส่วนแรกโรงงานผลิตแบตเตอรี่ หลังจากได้รับเงินอุดหนุน ต้นทุนการผลิตก็จะลดลง ส่งผลให้มาร์จิ้นดีขึ้น ส่วนของรถบัสไฟฟ้า เมื่อต้นทุนแบตฯ ลด ก็จะทำให้ราคาขายลดลง ยอดขายก็จะดีขึ้น และส่วนของสถานีชาร์จจะเป็นผลดีต่อเนื่อง จำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นจากปริมาณการใช้รถ EV ที่เพิ่มขึ้น 

ขณะที่ การขยายกำลังผลิตโรงงานแบตเตอรี่ของบริษัท คาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการการผลิตเป็น 4 GWh ภายในต้นปี 2567 นี้ เพื่อรองรับการใช้งานของรถ EV ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต หลังจากมาตรการสนับสนุนการใช้แบตเตอรี่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว