ดอกเบี้ยขาขึ้นดัน MRR ทะลุ 7% วัดใจแบงก์ขยับ

28 ม.ค. 2566 | 20:53 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2566 | 20:53 น.
717

ดอกเบี้ยขาขึ้น ดัน MRR ทะลุ 7% จับตาท่าทีแบงก์หลังกนง.เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 4 ต่อเนื่องแตะ 1.50% เท่าระดับก่อนโควิด-19 ระบาด

ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างแท้จริง หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายการเงินอีก 0.25% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับขึ้นจาก 1.25% เป็น 1.50% หลังจากที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยทรงตัวที่ระดับ 0.5% มาตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2563 จนถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2565หรือกว่า 2 ปี 8 เดือน

ดอกเบี้ยขาขึ้นดัน MRR ทะลุ 7% วัดใจแบงก์ขยับ

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ณ วันที่ 25 มกราคม 2566 พบว่า

  • ดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ชั้นดี (MLR) อยู่ที่ 6.8393%ต่อปี
  • ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี(MRR) อยู่ที่ 7.2913%ต่อปี
  • ดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเเกินบัญชี(MOR) อยู่ที่ 7.2302% ต่อปี

ทันทีที่ทราบผลกนง.สมาคมสถาบันการเงินของรัฐออกข่าวทันทีว่า สถาบันการเงินของรัฐมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดและจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไปแล้วก่อนหน้านี้ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง

นำโดยธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.)ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2566 นับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นครั้งแรกของธอส.ในรอบ 2 ปี 9 เดือนส่งผลให้ล่าสุด MLR อยู่ที่ 6.00% MRR อยู่ที่ 6.40% และ MOR อยู่ที่ 6.15% 

ตามด้วยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) หรือ EXIM BANK ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี จาก 5.75% ต่อปี เป็น 6.00% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566

ฟากธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ขึ้นกับโครงสร้างเงินฝากและเงินกู้ของแบงก์แต่ละแห่งก็ไม่เท่ากัน เช่น ไทยพาณิชย์มีฐานลูกค้าเงินกู้เป็นรายย่อยจำนวนมาก ถ้าไทยพาณิชย์ขยับอัตราดอกเบี้ย MRR ก็จะเพิ่มรายได้มาก

ส่วนธนาคารกรุงเทพ หากขึ้นดอกเบี้ย MRR จะไม่มีผลต่อรายได้เท่ากับการปรับอัตราดอกเบี้ย MLR เพราะลูกค้าของธนาคารกรุงเทพเป็นลูกค้าธุรกิจหรือบริษัท

แหล่งข่าวอีกธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มุ่งดูแลคุณภาพลูกค้า เห็นได้จากบางธนาคารกันสำรอง เพื่อรองรับกลุ่ม SMEs รายเล็ก กลุ่มค้าขายออนไลน์ ซึ่งยังมีความเสี่ยง ส่วนรายใหญ่และขนาดกลางได้รับอานิสงส์จากการการเปิดประเทศและการฟื้นตัวของภาคบริการ จึงเริ่มมีรายได้เข้ามา

สำหรับการส่งผ่านต้นทุนทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ผ่านมาปรับขึ้นน้อยกว่าดอกเบี้ยนโยบาย โดยแนวโน้มธนาคารจะทยอยปรับดอกเบี้ยหลังจากนี้อีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ ขณะที่เงินเฟ้อเริ่มผงกหัวลง หลังจากนี้จึงมีโอกาสเห็นธนาคารจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเท่ากับกนง.

ด้าน Krungthai COMPASS ธนาคาร กรุงไทยคาดว่า กนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัดไป จากปัจจัยสนับสนุนว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากแรงขับเคลื่อนของภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดี

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะครึ่งปีแรกและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น