กรุงไทยผนึก BJC ตั้งเป้าขยาย “ร้านโดนใจ” จำนวน 8,000 ร้านในปีนี้

19 ม.ค. 2566 | 16:55 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2566 | 17:06 น.

กรุงไทย ผนึก BJC ตั้งเป้าขยาย “ร้านโดนใจ” จำนวน 8,000 ร้านในปีนี้ พร้อมปล่อยสินเชื่อสูงสุด 5 ล้านบาทไม่ต้องมีค่าธรรมเนียม

ความคืบหน้าหลังจากธนาคารกรุงไทย ร่วมกับ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี เปิดร้านโชวห่วยภายใต้ชื่อ “ร้านโดนใจ” เมื่อปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,200 ร้าน พร้อมปล่อยสินเชื่อ “คู่ค้าพารวย” และ “สินเชื่อ SME ไซส์เล็ก”

ปี 2566 ตั้งเป้าเปิด “ร้านโดนใจ” จำนวน 8,000 ร้านค้า

ล่าสุด​ นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี เปิดเผยว่า บีเจซี ได้เปิดตัวโมเดลธุรกิจ “ร้านโดนใจ” ในปี 2565 ที่ผ่านมา ด้วยการพัฒนาระบบ POS เข้ามายกระดับร้านโชห่วยไทยให้มีระบบบริหารจัดการส่งผลให้มีร้านโชห่วยเข้าร่วมโมเดลธุรกิจร้านโดนใจแล้วกว่า 1,200 ร้านค้า โดยในปี 2566 วางเป้าหมายเปิดร้านโดนใจที่ 8,000 ร้านค้า และเติบโตสู่ 30,000 ร้านค้า ภายในปี 2570

 

เปิดจุดเด่นแพลตฟอร์มร้านโดนใจ

นางฐาปณี  ยังกล่าวเพิ่มเติมอีว่า แพลตฟอร์มร้านโดนใจมีจุดเด่นที่ผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วยสามารถเลือกลงทุนและสินค้าที่จำหน่ายได้เอง โดยไม่ต้องแบ่งผลกำไร ใช้งบลงทุนที่ไม่สูง ซึ่งรูปแบบของร้านแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.บีเจซี จะใช้เครือข่ายของบิ๊กซีเป็นคนจำหน่ายสินค้าให้กับร้านค้าในชุมชน 2.นำเอาระบบ POS ที่พัฒนาขึ้นเข้าไปเสริมแกร่งธุรกิจให้กับร้านโชห่วย โดยการนำระบบ POS หรือระบบขายหน้าร้าน การให้คำปรึกษาทางธุรกิจจากทีมผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเติมเต็มจะช่วยยกระดับและเสริมประสิทธิภาพในการขายสินค้าให้กับผู้ค้า เปลี่ยนโฉมร้านโชห่วยให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค โดยความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยในครั้งนี้ เพื่อต่อยอดในการสร้างทุนให้กับผู้ประกอบการที่สนใจที่จะเปิดร้านโดนใจ ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ เพื่อปรับโฉมการบริหารจัดการยกระดับร้านค้า ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเท่าทัน และเป็นหนึ่งฟันเฟืองในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก ซึ่งจะทำให้ร้านโชห่วยของไทยเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับสังคมและชุมชนด้วยความสมดุล

“ร้านโดนใจ”

 

ปล่อยสินเชื่อคู่ค้าพารวย

​ขณะที่ นายธวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทยได้ร่วมกับ  BJC ในโครงการการพัฒนาโมเดลค้าปลีกรูปแบบใหม่ ภายใต้แบรนด์ร้าน “โดนใจ” โดยนำเสนอ 2 ผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมศักยภาพให้กับร้านค้าและเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตของธุรกิจ เพื่อรองรับเป้าหมายของ BJC ที่ต้องการพลิกโฉมร้านค้าทั่วประเทศด้วยสินค้าและบริการที่ทันสมัยตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

​เครือข่ายร้านโดนใจ ซึ่งเป็นสมาชิกของ BJC สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียน ผ่านสินเชื่อ คู่ค้าพารวย ภายใต้ โครงการ Digital Supply Chain Financing ซึ่งเกิดจากการพัฒนาแพลตฟอร์ม ภายใต้ยุทธศาสตร์การต่อยอดธุรกิจจากคู่ค้าของลูกค้า โดยนำข้อมูลจากการค้าและการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลที่เชื่อมต่อกับ Digital Supply Chain Financing Platform ของธนาคาร มาเป็นประโยชน์ในการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ทดแทนเอกสารแสดงฐานะทางการเงิน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการสินเชื่อ ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยที่ประสบปัญหาในการเข้าถึงบริการสินเชื่อ เนื่องจากไม่มีประวัติทางการเงิน โดยธนาคารสามารถพิจารณา และกำหนดวงเงินสินเชื่อจากข้อมูลการสั่งซื้อ เพื่อสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ใช้จ่ายได้อย่างอุ่นใจ ซื้อของเข้าร้านได้เต็มที่ ด้วยวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสม หากไม่ใช้วงเงิน ก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเต็มวงเงิน สูงสุด 5 ล้านบาท ไม่มีค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ใช้งานสะดวกผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งแอปพลิเคชัน Krungthai Business และ Krungthai NEXT

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านค้าถุงเงิน หรือเป๋าตุง รวมถึงร้านค้าที่ใช้ระบบ POS (Point of Sale System) ในการรับชำระเงิน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อขยายร้าน เติมสต็อค เปิดร้านสาขาใหม่ หรือเพิ่มเงินหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ผ่านสินเชื่อ SME ไซส์เล็ก ที่จะช่วยให้ร้านค้ารายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน โดย บสย.ค้ำประกันเต็มวงเงินสูงสุด 3 ล้านบาท และสำหรับลูกค้าที่มีหลักประกันรับวงเงินสูงสุด 20 ล้านบาท ไม่กำหนดรายได้ขั้นต่ำ

ผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ สินเชื่อคู่ค้าพารวยได้ที่ https://krungthai.com/th/content/sme-rich หรือ สอบถามข้อมูลโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ Krungthai Contact Center โทร. 02-111-1111