เงินบาทนำโด่งเอเชีย 2 สัปดาห์แข็งค่าเฉียด 6%

18 ม.ค. 2566 | 17:27 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2566 | 00:27 น.

นักลงทุนต่างชาติแห่เข้าไทย พบ 2 สัปดาห์แรกปี 66 เงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ 6.11 หมื่นล้านบาท เข้าตลาดหุ้นอีก 1.78 หมื่นล้านบาท ดันบาทแข็งเกือบ 6% นำโด่งภูมิภาคเอเชีย

แนวโน้มค่าเงินบาทยังเป็นไปในทิศทางแข็งค่า หลังเงินบาทปิดซื้อขายแข็งค่าหลุด 33 บาทต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการแข็งค่าค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือน หลังจากดัชนีดอลลาร์แตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เงินบาทเปิดตลาด 2 สัปดาห์แรกของปี 2565 แข็งค่าแล้ว 5.69% เป็นการแข็งค่าเร็ว แต่เป็นการเคลื่อนไหวจากจุดที่อ่อนค่ามากจากรอบปี 2565 ที่เงินบาทอ่อนค่า 3.5% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (2 สัปดาห์) เงินบาทแข็งค่าแค่ 1.00% ซึ่งเป็นคนละบรรยากาศ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย

“ปลายปีก่อน ยังมีความกังวลต่อการระบาดของโอไมครอน มีความหวังจากข่าววัคซีน แต่พอมีสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเกิดขึ้น ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง” นายพูน กล่าว

 

สำหรับปี 2566 ปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าเร็วของเงินบาทนั้น หลักๆมาจากการเปิดประเทศของจีน สัญญาณเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาไทย,นโยบายธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ถึงจุดกลับทิศ ทำให้เงินบาทได้รับอานิสงส์จากการที่ดอลลาร์อ่อนค่าลงและราคาทองคำปรับขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์จะพบว่า เงินบาทแข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่นๆ แต่หากเทียบสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียต่อเงินบาทแล้วจะพบว่า ส่วนใหญ่ทุกสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคจะอ่อนค่าเฉลี่ย 1-2% ส่วนดัชนีค่าเงินบาท (REER) ขึ้นมาใกล้เคียง (NEER) ราว 3.0% เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์เงินเฟ้อแต่ละประเทศอยู่ในระดับสูง จึงไม่แตกต่างกันมาก

ขณะเดียวกันเมื่อเทียบความผันผวนค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนอยู่ที่ 105.1จุด ล่าสุดปีนี้อยู่ที่ 104.74 จุด สะท้อนว่าเงินบาทยังถูกเมื่อเทียบดัชนีแต่การเทียบจากค่าเฉลี่ย 5ปีจะกินช่วงโควิดด้วย แต่ถ้าเทียบปีก่อนช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าลงไปที่ 38 บาทต่อดอลลาร์ ดัชนีค่าเงินบาทอยู่ที่ 96.66 จุด

เงินบาทนำโด่งเอเชีย  2 สัปดาห์แข็งค่าเฉียด 6%

นายพูนกล่าวว่า มองไปข้างหน้าถึงกลางปี 2566 จะมีปัจจัยเยอะทั้งการเมือง, ฤดูจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ตลาดกังวลผลประกอบการทั่วโลก(ทั้งสหรัฐ ยุโรป ยกเว้นจีน) ยิ่งถ้าตลาดหุ้นปรับตัวดีตลอดไตรมาสแรกปีนี้ จะมีความเสี่ยงที่จะย่อตัวลง เพราะจะมีแรงเทขายทำกำไรจากนักลงทุนในไตรมาสสอง

“เรากังวลช่วงกลางปี 2566 โอกาสจะเห็นเงินบาทกลับไปอ่อนค่า 35-36 บาทต่อดอลลาร์ แต่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัจจัยเสี่ยงข้างต้น หากปัจจัยกลางปีเกิด แต่ไม่รุนแรง เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าที่ 31.5 บาทหรือหลุด 32 บาทในไตรมาส 4 แต่ปลายปีจะกลับมาเคลื่อนไหว 32.5บาท ต่อดอลลาร์”

ดังนั้น เราจึงแนำนำให้ลูกค้าทั้งผู้ส่งออกและนำเข้าควรปิดเสี่ยงทั้งต้นทุนและค่าเงินโดยเฉพาะการทำออปชั่นเพราะค่าเงินยังแกว่งตัวสูง

สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ช่วง 2 สัปดาห์แรกปี 2566 พบว่า มีเงินไหลเข้าตลาดหุ้น 18,000 ล้านบาทจากยอดคงค้างปีก่อนอยู่ที่ 196,000 ล้านบาท ส่วนตลาดตราสารหนี้ (บอนด์)เข้ามา 64,000 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนยอดคงค้าง 46,000 ล้านบาท (หักส่วนที่เป็นหุ้นกู้ครบกำหนด)

สอดคล้องกับนายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วง 2 สัปดาห์แรกปี 2566 เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่า 5.69% ซึ่งแข็งค่าเร็วติดอันดับ 1 ในเอเชียและแข็งค่าระดับต้นๆของโลก โดยเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่

นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์

  1. อัตราเงินเฟ้อในต่างประเทศเริ่มอยู่ในระดับสูงสุดแล้ว
  2. การชะลอขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นปัจจัยหลัก
  3. ราคาทองคำวิ่งขึ้นเร็วมากภายในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์จากที่เปิดตลาด 1,820 ดอลลาร์ต่อออนด์ขยับเป็น 1,920 ดอลลาร์ต่อออนด์
  4. ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดพันธบัตรระยะสั้นและกลาง
  5. การเปิดประเทศของจีน

“เงินบาทแข็งค่าเร็ว แต่ต้องเข้าใจปีที่แล้วเงินบาทแกว่งตัวมากจาก 33 บาทไป 38 บาทแล้วพลิกกลับมา 33 บาท ดังนั้นการแข็งค่าของเงินบาทต้นปีนี้ ไม่ส่งผลบวกต่อธุรกิจ ส่วนหนึ่งเพราะทั้งผู้ส่งออกและนำเข้าปิดความเสี่ยงไปบางส่วนอย่างมีนัยสำคัญ โดยระหว่างทางยังแกว่งตัวแต่ทั้งปี EIC ประเมินบาทที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์”นายแพททริกกล่าว

ทั้งนี้ส่วนตัวไม่กังวลเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท เพราะเชื่อว่า เราจะผ่านไปได้ ซึ่งปีที่แล้ว เจอสถานการณ์ผันผวนหนักยังผ่านมาได้ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการสามารถเลือกเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้เหมาะกับบริษัทของตัวเองเพื่อไม่ได้ขาดทุนจากค่าเงิน โดยเฉพาะที่ผ่านมาธนาคารเห็นปริมาณการจองซื้อฟอร์เวิร์ดเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับพฤติกรรมของธุรกิจ แต่ยอมรับว่า ความผันผวนระดับนี้ยังมีความเป็นห่วงว่า ธุรกิจจะขาดทุนจากค่าเงินหรือไม่

ทั้งนี้ หากประเมินจากภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-พฤศจิกายน) ซึ่งมีมูลค่า 265,349.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9.17 ล้านล้านบาท หากเทียบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ 5.69% ทำให้รายได้จากการส่งออกหายไป 5.22 แสนล้านบาท

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,854 วันที่ 19 - 21 มกราคม พ.ศ. 2566