ก.ล.ต.ออกข้อกำหนดระบบบริหารจัดการกระเป่าเงินดิจิทัล-กุญแจ

16 ม.ค. 2566 | 21:43 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2566 | 04:54 น.

ก.ล.ต.ออกประกาศกำหนดเกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลและกุญแจ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 16 มกราคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศ เรื่องข้อกำหนดในรายละเอียดเกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลและกุญแจ   ซึ่งเป็นประกาศแก้ไขเพิ่มเติมเรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 19)   โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่   วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2566  เป็นต้นไป

ก.ล.ต.ออกข้อกำหนดระบบบริหารจัดการกระเป่าเงินดิจิทัล-กุญแจ

เนื้อหาสาระหลักของประกาศดังกล่าวได้กำหนดนิยามสำคัญของ“ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล”  หมายความว่า   ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และมีการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า

“ระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล”  หมายความว่า

(1)  ระบบการบริหารจัดการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet management)

(2)  ระบบการบริหารจัดการกุญแจ (key management)

“นโยบาย”  หมายความว่า   นโยบายการกำกับดูแลและบริหารจัดการระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล

“ข้อมูลต้นกำเนิด” (seed)  หมายความว่า   ชุดตัวเลขที่ได้จากการประมวลค่าวลีช่วยจำ ที่ผ่านกระบวนการทางคอมพิวเตอร์ตามที่มาตรฐานกำหนด

“วลีช่วยจำ” (mnemonic phrase)  หมายความว่า   ชุดคำ (word lists) ที่ได้จากการประมวลค่าเอนโทรปีที่ผ่านกระบวนการทางคอมพิวเตอร์ โดยชุดคำจะเป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด

“เอนโทรปี” (entropy)  หมายความว่า   การใช้กระบวนการทางคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างชุดตัวเลขที่เป็นคำสุ่ม (randomness) ประกอบด้วย bit 0 หรือ bit 1 โดยมีความยาวเป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด เพื่อนำไปใช้ประกอบการสร้างกุญแจเข้ารหัส

นอกจากนี้ใน ข้อ 3   ข้อกำหนดในรายละเอียดตามประกาศนี้ กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในส่วนที่เกี่ยวกับระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพในเรื่องดังต่อไปนี้  ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

(1)  นโยบายและวิธีปฏิบัติในการกำกับดูแลและบริหารจัดการระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล ให้เป็นไปตามหมวด 1

 (2)  การบริหารจัดการระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล ให้เป็นไปตามหมวด 2

 (3)  การบริหารจัดการเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล (incident management) ให้เป็นไปตามหมวด 3

หมวด 1

นโยบายและวิธีปฏิบัติในการกำกับดูแลและบริหารจัดการระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล

ข้อ 4   ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้  ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

(1)  การบริหารจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายและการบริหารความเสี่ยงองค์กร (enterprise risk) ซึ่งครอบคลุมถึงการระบุความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง และการควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้

(2)  การบริหารจัดการระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลตามข้อ 6

ข้อ 5   ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีการกำกับดูแลและบริหารจัดการระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายตามข้อ 4

(1)  สื่อสารนโยบายให้แก่บุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึงในลักษณะที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้บุคลากรดังกล่าวเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวได้ถูกต้อง

(2)  กำหนดขั้นตอนและวิธีปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบาย

(3)  ทบทวนหรือปรับปรุงนโยบาย อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และทบทวนโดยไม่ชักช้าเมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการกำกับดูแลและบริหารจัดการระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ  ทั้งนี้ ต้องปรับปรุงขั้นตอนและวิธีปฏิบัติงานตาม (2) ให้สอดคล้องกับนโยบายที่มีการเปลี่ยนแปลงด้วย

(4)  จัดให้มีการกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย โดยหน่วยงานซึ่งเป็นอิสระจากการบริหารจัดการระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล และหน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่รายงานผลการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวให้คณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทราบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และในกรณีที่มีเหตุการณ์ใด ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ ต้องรายงานให้คณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทราบโดยไม่ชักช้า

(5)  จัดให้มีระบบควบคุมภายในสำหรับการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายอย่างน้อยดังนี้

      (ก)  มีการตรวจสอบภายในและสอบทานการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นระบบ

      (ข)  มีการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง และติดตามการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าวอย่างเป็นระบบและทันต่อเหตุการณ์ เพื่อลดผลกระทบต่อทรัพย์สินลูกค้า

หมวด 2

การบริหารจัดการระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล

ข้อ 6   ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีนโยบายและกำหนดกระบวนการในการบริหารจัดการระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล ในเรื่องของการออกแบบ พัฒนา และบริหารจัดการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างเหมาะสมและมั่นคงปลอดภัย

ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการสร้าง จัดเก็บ หรือเข้าถึงกุญแจ  ข้อมูลต้นกำเนิด หรือข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีนโยบายและกำหนดกระบวนการในการบริหารจัดการระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลในเรื่องดังกล่าวด้วย

หมวด 3

การบริหารจัดการเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล

ข้อ 7   ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีการบริหารจัดการเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1)  กำหนดขั้นตอนและกระบวนการในการบริหารจัดการเหตุการณ์

(2)  กำหนดผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการเหตุการณ์

(3)  ทดสอบขั้นตอนและกระบวนการในการบริหารจัดการเหตุการณ์ตาม (1)  อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

(4)  พิจารณาทบทวนขั้นตอนและกระบวนการในการบริหารจัดการเหตุการณ์หลังจากที่ได้มีการทดสอบตาม (3) แล้วอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

(5)  จัดให้มีการประเมินผลการทดสอบตาม (3) และประเมินผลการพิจารณาทบทวนตาม (4) โดยต้องรายงานผลต่อคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องกระทำโดยบุคคลที่เป็นอิสระจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการเหตุการณ์ตาม (2)

(6)  รายงานเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลต่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการเหตุการณ์ตาม (2) และสำนักงาน ก.ล.ต.โดยไม่ชักช้า

(7)  ในกรณีที่มีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งกระทบต่อทรัพย์สินของลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการดังนี้

      (ก)  จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญภายนอกที่มีความเป็นอิสระ มีความชำนาญตามมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือ และได้รับการรับรองหรือได้รับประกาศนียบัตร (accreditations or certifications) ที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรม ทำหน้าที่ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของระบบและพิสูจน์พยานหลักฐานทางดิจิทัล (digital forensic investigation) โดยไม่ชักช้า

      (ข)  จัดส่งรายงานที่จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญตาม (ก) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต.

ตามหลักเกณฑ์ดังนี้

       1.  รายงานการตรวจสอบขั้นต้น (interim forensic investigation report) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างผู้เชี่ยวชาญภายนอก

       2.  รายงานการตรวจสอบฉบับสมบูรณ์ (final forensic investigation report) ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างผู้เชี่ยวชาญภายนอก     ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถจัดส่งรายงานดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง (ข) ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยื่นขอขยายระยะเวลาการจัดส่งรายงาน พร้อมทั้งเหตุผลและเอกสารหลักฐานต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ก่อนครบกำหนดระยะดังกล่าว

(8)  จัดทำแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่พบตาม (7) และมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวซ้ำ  รวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว โดยจัดส่งต่อ

สำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 10 วันนับแต่วันที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับรายงานจากผู้เชี่ยวชาญตาม (7) วรรคหนึ่ง (ข) 2. 

ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการตามแผนดังกล่าว และจัดส่งรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ทุกวันศุกร์จนกว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะดำเนินการตามแผนแล้วเสร็จ

ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถจัดส่งแผนการดำเนินการตามวรรคหนึ่งหรือรายงานความคืบหน้าตามวรรคสองภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยื่นขอขยายระยะเวลาการจัดส่งแผนหรือรายงาน  พร้อมทั้งเหตุผลและเอกสารหลักฐานต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว

(9)  จัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการในการบริหารจัดการเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีนับแต่วันที่จัดทำเอกสารนั้น โดยต้องจัดเก็บไว้ในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถเรียกดูและตรวจสอบได้โดยไม่ชักช้าการแจ้ง การส่งแผนการดำเนินการ รายงาน เอกสารหลักฐาน หรือคำขอใด ๆต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบและวิธีการที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต.