“TSE”หุ้นเล็ก ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ชิงโซลาร์ฟาร์มเกือบ 50 โครงการ

15 ธ.ค. 2565 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2565 | 18:37 น.

“แคทลีน มาลีนนท์”ซีอีโอ TSE เผยบริษัทผ่านเกณฑ์คุณสมบัติรอบแรกเกือบ 50 โครงการ กำลังผลิตรวมกว่า 400 เมกะวัตต์ จากโครงการ กกพ. รอลุ้นผล 22 มี.ค.66

 

จากการที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.ได้ให้ภาคเอกชนเข้ามายื่นคำขอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 กำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นก๊าซชีวภาพ 335 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 1,000 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2,368 เมกะวัตต์

 

โดยมีผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้ารวม 670 โครงการ แบ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 272 โครงการและผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จำนวน 398 โครงการ คิดเป็นปริมาณเสนอขายรวมมากถึง 17,400 เมกะวัตต์ สูงกว่าที่กำหนดไว้มากกว่า 3 เท่า ล่าสุดได้มีการประกาศรายชื่อบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติผ่านเกณฑ์เบื้องต้น ซึ่งมีหลายบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย
 

 

หนึ่งในนั้นมี บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ หรือ TSE  ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นมากสุดเกือบ  50 โครงการ ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด จาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ.ที่ได้ประกาศรายชื่อเอกชนยื่นคำขอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จำนวน 303 แบ่งเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 290 โครงการ และโครงการพลังงานลม จำนวน 13 โครงการ

 

ต่อเรื่องนี้ นางสาวแคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ยื่นคำเสนอซื้อขายไฟฟ้าของบริษัทฯ และกลุ่มบริษัทฯ ที่ทาง กกพ.ได้เปิดประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ประเภทโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) (10 – 90 MW) และประเภทโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) (<10 MW) 

 

โดย TSE ได้รับเลือกในส่วนของการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดินกว่า 40 โครงการ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) อีก 1 โครงการ กำลังการผลิตรวมประมาณกว่า 400 เมกะวัตต์ 

 

นางสาวแคทลีน กล่าวต่อ ว่าบริษัทได้ทำการศึกษาและเตรียมงานมานานกว่า 6 เดือนก่อนการประมูล โดยได้มีการเตรียมความพร้อมด้านที่ดินที่ใกล้กับสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ) ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย รวมทั้งการตรวจสอบทำเลที่ตั้งของที่ดินตามผังเมืองและได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้และเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูงในการรับแสงแดดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า 

 

นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากสถาบันการเงินชั้นนำในประเทศสำหรับการก่อสร้างโครงการในอนาคตที่จะเกิดขึ้น พร้อมรอลุ้นฟังข่าวดีจากการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ในวันที่ 22 มีนาคม 2566

 

ทั้งนี้โครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE  ตามข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 10 มีนาคม 2565  

 

 

“TSE”หุ้นเล็ก ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ชิงโซลาร์ฟาร์มเกือบ 50 โครงการ

 

 

พบว่าผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ1  คือ  บริษัท พี.เอ็ม. เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ถือหุ้นจำนวน 783,034,150 หุ้น หรือ 36.98% บริษัทนี้ได้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2554 ทุน 120 ล้านบาท และมีการเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนวันที่ 26 เมษายน 2554 จำนวน 1 ล้านบาท ซึ่งบริษัทดำเนินธุรกิจการลงทุนในบริษัทที่ผลิตพลังงานทดแทน ได้แก่ พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์หรือพลังงานทดแทนอื่นๆ โดยพลังงานดังกล่าวใช้เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า 

 

โดยมีนายประชา มาลีนนท์ ถือหุ้นใหญ่ บริษัท พี.เอ็ม. เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด 63.43% มีกรรมการและผู้มีอำนาจลงนามคือ นางสาวแคทลีน มาลีนนท์ (บุตรสาว)  และนายสมภพ พรหมพนาพิทักษ์ ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ / กรรมการ บมจ. ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ หรือ TSE ด้วยเช่นกัน ขณะที่นางรัตนา มาลีนนท์ พี่สาวคนโตของ ประชา มาลีนนท์ เข้าถือหุ้นใหญ่ TSE อันดับ 6 จำนวน 37,563,200 หุ้น หรือ 1.77%
 

 

ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ TSE อันดับ 2 บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ถือหุ้นโดย ครอบครัวนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในรัฐบาลปัจจุบัน ถือจำนวน 190,575,000 หุ้น หรือ 9.00% นอกจากนี้ยังพบว่า มีรายชื่อ นาย มาศถวิน ชาญวีรกูล เข้าเป็น กรรมการ หุ้น TSE ด้วย

 

 

ผลประกอบการของกลุ่มบริษัทตามงบการเงินรวมสำหรับงวด 3 เดือนไตรมาสที่ 3/2565 มีกำไรเฉพาะส่วนของบริษัทใหญ่ เท่ากับ 121 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีกำไร 208 ลันบาท ลดลงจำนวน 87 ลำนบาท หรือลดลง 42% เนื่องจากในไตรมาส 3 ปี 2564 มีการรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุน

 

ขณะที่งวด 9 เดือนไตรมาสที่ 3/2565 มีกำไรเฉพาะส่วนของบริษัทใหญ่เท่ากับ 631 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีกำไร 593 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 38 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6% ซึ่งเกิดจากกำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยในไตรมาส 1/2565
 

 

TSE ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2565 มาร์เก็ตแคป 4,913.10 ล้านบาท พี/อี 9.26 เท่า ราคาสูงสุด/ต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ ที่ 2.84 / 2.00 บาท อัตราเงินปันผลตอบแทน 3.23% ราคาปิดที่ 2.32 บาท