บจ.ไทยเจ๋ง กวาดรางวัล ASEAN CG Scorecard ปี 2564 สูงสุดในอาเซียน

02 ธ.ค. 2565 | 00:08 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2565 | 04:20 น.

บริษัทจดทะเบียนไทย ครองผู้นำในการประกาศรางวัล ASEAN CG Scorecard ปี 2564 พร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน

 

บริษัทจดทะเบียนไทยครองผู้นำในการประกาศรางวัล ASEAN CG Scorecard ปี 2564 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เพื่อยกย่องและประกาศเกียรติคุณให้แก่บริษัทจดทะเบียนในอาเซียนที่ดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี  โดยมีบริษัทไทยที่อยู่ใน ASEAN Top 20 และ ASEAN Asset Class จำนวนมากที่สุด


สำหรับการประกาศรางวัล ASEAN CG Scorecard ประจำปี 2564 ซึ่ง The Institute of Corporate Directors, Philippines (ICDPh) เป็นเจ้าภาพจัดงาน แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 

 

  • (1) รางวัล ASEAN Asset Class PLCs มอบให้แก่บริษัทจดทะเบียนที่ทำคะแนนได้ตั้งแต่ 97.50 คะแนนขึ้นไป (ร้อยละ 75 ของคะแนนเต็ม 130 คะแนน) ซึ่งมีทั้งสิ้น 234 บริษัท โดยเป็นบริษัทจดทะเบียนไทย 76 บริษัท ซึ่งมากที่สุดในอาเซียน

 

  • (2) รางวัล ASEAN Top 20 PLCs มอบให้แก่บริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนนสูงสุด 20 อันดับแรกของอาเซียน โดยบริษัทจดทะเบียนไทยมีจำนวนมากที่สุดด้วยเช่นกัน คือ 7 บริษัท ฟิลิปปินส์ 5 บริษัท สิงคโปร์ 4 บริษัท มาเลเซีย 3 บริษัท และอินโดนีเซีย 1 บริษัท 

 

  • (3) รางวัล Country Top 3 PLCs มอบให้แก่บริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละประเทศ โดยบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก (เรียงตามตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษของชื่อบริษัทจดทะเบียน) ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP)

 

นอกจากนี้ จากผลคะแนนทั้งหมดพบว่า บริษัทจดทะเบียนไทยสามารถทำคะแนนเฉลี่ย 102.27 คะแนน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการประเมินครั้งก่อนที่ได้ 96.60 คะแนน

 

นางสาวรื่นวดี  สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ท่ามกลางกระแสโลกที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นและความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล (digital disruption) หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในอาเซียน รวมทั้ง ก.ล.ต. ไทย ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี

 

รวมทั้งยกระดับการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่บริษัทจดทะเบียนไทยมีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง และมีบริษัทที่ได้รับรางวัล ASEAN Top 20 และ ASEAN Asset Class มากที่สุดในอาเซียน ซึ่งบริษัทกลุ่มนี้จะเป็นพลังสำคัญในการแสดงความมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณค่าให้แก่กิจการไปจนตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chain)

 

ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงแบบรายงานการเปิดเผยข้อมูลเป็นแบบ 56-1 One Report ซึ่งกำหนดให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลในมิติของ ESG มากขึ้น รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยยกระดับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนไทยและรองรับการประเมิน ASEAN CG Scorecard ครั้งถัดไป

 

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้ยึดหลักการทำงานบูรณาการกับทุก ๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศในการขับเคลื่อนและส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนไทยให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน” 

 

นายกุลเวช  เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน CG ของประเทศไทย กล่าวว่า “บริษัทจดทะเบียนไทยมีพัฒนาการในการปฏิบัติตามหลัก ASEAN CG Scorecard (ACGS) ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ หมวด เห็นได้จากจำนวนบริษัทที่มีคะแนน 97.50 คะแนนขึ้นไป หรือ ASEAN Asset Class สูงกว่าปี 2562 เกือบเท่าตัว คือ เพิ่มจาก 42 บริษัท เป็น 76 บริษัทในปี 2564 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนไทยมีการทบทวน ติดตาม และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการองค์กรรวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างสม่ำเสมอ  

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 คาดว่าจะมีการพัฒนาเกณฑ์ ACGS ตามหลักเกณฑ์ G20/OECD ที่ปรับปรุงใหม่ โดยอาจมีหัวข้อที่นักลงทุนระดับสากลให้ความสำคัญเข้ามาเป็นเกณฑ์ เช่น ESG และการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น จึงถือเป็นความท้าทายของบริษัทจดทะเบียนไทยที่จะเรียนรู้และพัฒนา CG เพื่อยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน ให้มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในมุมมองของนักลงทุนทั้งในประเทศและระดับสากลต่อไป”

 

ทั้งนี้ ASEAN CG Scorecard เป็นโครงการที่ริเริ่มโดย ACMF เมื่อปี 2555 จากการสนับสนุนของ ก.ล.ต. ในอาเซียนเพื่อทำการประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน 6 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาดสูงสุด 100 อันดับแรก ณ วันที่ 31 พฤษภาคม (ประเมินทุก ๆ 2 ปี) การประเมินระดับประเทศใช้เกณฑ์ที่พัฒนามาจากหลักเกณฑ์ OECD 5 หมวด

 

โดยประเมินจากข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยต่อสาธารณะ และมีกระบวนการตรวจสอบคะแนนจากประเทศอื่น (Peer review) เพื่อมั่นใจว่าทุกประเทศมีมาตรฐานการประเมินสอดคล้องกัน สำหรับ ASEAN CG Scorecard ปี 2564 ประเมินจากการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของปี 2563 ทั้งนี้ IOD ได้รับการพิจารณาจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เป็น CG Expert และองค์กรผู้ทำการประเมินในนามของประเทศไทย (Domestic Ranking Body)