ประชุมท้ายปี2565คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%แตะ 1.25%

28 พ.ย. 2565 | 15:31 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2565 | 22:47 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยย้ำ กนง.ประชุม30พ.ยนี้ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายค่อยเป็นค่อยไปอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.25% ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อยังสูง แม้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแต่มีความเปราะบางทั้งหนี้ภาคธุรกิจ-ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง

ในการประชุมกนง. ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นการประชุมกนง. ครั้งสุดท้ายของปีนี้ คาดว่ากนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25%มาอยู่ที่ระดับ 1.25% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง 

 

อย่างไรก็ดี การพลิกกลับมาแข็งค่าของค่าเงินบาทตามการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ฯ ส่งผลให้กนง. เผชิญแรงกดดันจากประเด็นด้านค่าเงินลดลง

 

กนง. ยังคงเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อในระดับสูง แม้ตัวเลขเงินเฟ้อคาดว่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในเดือนส.ค. ที่ผ่านมาและเริ่มส่งสัญญาณอ่อนแรงลง 

ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนต.ค. ที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

 

แต่ยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายของกนง. โดยอยู่ที่ระดับ 5.98% YoY ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นมาจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยโดยอยู่ที่ระดับ 3.17% YoY 


สะท้อนราคาสินค้าในภาพรวมยังคงเร่งตัวสูงขึ้น แม้แรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องหลังจากในไตรมาส 3/2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวถึง 4.5% YoY 

โดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นแรงหนุนหลักของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ดังนั้น จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง คงส่งผลให้กนง. พิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก0.25%

 

ในการประชุมที่จะถึงนี้ ซึ่งกนง. คงจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้
 ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวและยังมีความเปราะบางจากหนี้ในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 


ขณะที่แรงกดดันจากประเด็นด้านค่าเงินนั้นเริ่มมีลดลง หลังจากค่าเงินบาทพลิกภาพมาแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ฯ

 

เนื่องจากตลาดคาดว่าเฟดอาจเริ่มชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแรงกว่าคาด


ทั้งนี้ ในปีหน้า เส้นทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของกนง. คงขึ้นอยู่กับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลักอย่างเฟดเป็นสำคัญ

 

โดยมีความเป็นไปได้ที่กนง. อาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายของไทยคงไปแตะระดับสูงสุดที่ราว 1.75-2.00% ในปีหน้า 


ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งคงส่งผลกระทบต่อไปยังภาคการส่งออกของไทยให้ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

นอกจากนี้ อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มอ่อนแรงลง เนื่องจากอานิสงส์ของอุปสงค์คงค้างจากในช่วงก่อนหน้าคงค่อยๆ หายไป ขณะที่คงเห็นผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นต่อกำลังซื้อมากขึ้นในปีหน้า 

 

ขณะเดียวกัน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะค่อยๆ อ่อนแรงลง โดยแม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่ราคาพลังงานในตลาดโลกอาจปรับสูงขึ้นอีกเนื่องจากการขาดแคลนพลังงานในยุโรปในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

 

แต่คาดว่าราคาพลังงานรวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ในตลาดโลกคงจะปรับลดลงมาได้หลังไตรมาส 1/2566 ตามอุปสงค์โลกที่ชะลอลง 

 

ทั้งนี้  แรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มแผ่วลงคงจะส่งผลให้ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงเฟดกลับมาให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้น

 

โดยหากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับลดลงมาอย่างชัดเจนในระยะข้างหน้า ขณะที่เศรษฐกิจรวมถึงตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ เฟดคงชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อๆ ไปและ


อาจหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า ซึ่งคงจะส่งผลให้ปัจจัยสนับสนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ นั้นมีน้อยลงและส่งผลต่อไปยังค่าเงินบาทให้อาจพลิกภาพมาแข็งค่าได้ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อกนง. ด้านค่าเงินอีกทางหนึ่ง

 

ดังนั้น จากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น ประกอบกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและค่าเงินที่ลดลง กนง. คงกลับมาให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยลงและหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปีหน้า


 อย่างไรก็ดี หากเงินเฟ้อคาอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดและหากเฟดยังคงมุมมองแข็งกร้าวยาวนานกว่าที่คาด กนง. คงเผชิญความท้าทายในการดำเนินนโยบายทางการเงินมากขึ้นท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โดยกนง. อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าคาด