เบื้องลึก มหากาพย์หุ้น MORE และตัวละครลับ (1)

13 พ.ย. 2565 | 16:05 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ย. 2565 | 22:30 น.
122.4 k

เบื้องลึก มหากาพย์หุ้น MORE และตัวละครลับ (1) : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ วันที่ 13 พ.ย.2565

หากจะพูดถึงด้านมืดของตลาดทุน ชั่วโมงนี้คงต้องยกให้หุ้น More หรือ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ ที่นักลงทุนมักเรียกว่า “ม้อ รีเทิร์น” เพราะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ มีชื่อว่า “อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ” หรือ “เฮียม้อ”… 


ข้อมูลเบื้องต้น


• บริษัท “MORE” ในอดีตคือ บริษัทชื่อ  “บริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน)” หรือ “DNA”

• หุ้น “DNA” หรือ “MORE” ในอดีตปี 2561 เคยมีข่าวฉาว จากคดีฉ้อโกงเงินดิจิทัล บิทคอยน์  คิดเป็นเงินประมาณ 797 ล้านบาท จากนักลงทุนชาวฟินแลนด์


โดยจากกรณีนั้น ปริญญา จารวิจิต อดีตกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ DNA หรือ MORE ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการใหญ่ในการวางแผนหลอกต้มนายเออาร์นี และยังมีอดีตผู้บริหารโบรกเกอร์ดังเข้าไปเกี่ยวข้อง

• กรณีนั้น หุ้น “MORE” ตกลงจากราคาประมาณ 2.40 บาท ในปี 2561 ลงสู่ราคา 0.15 บาทต่อหุ้น ในปี 2563


• บริษัท “MORE” มีทรัพย์สิน 1.6 พันล้าน มีหนี้สินราว 300 ล้าน แต่มีเงินสดเพียง 18 ล้านบาท โดย 3 ปีย้อนหลังบริษัท “MORE” ไม่เคยมีรายได้ เกิน 145 ล้านบาท และนับเป็นบริษัทกลุ่มที่ที่มีรายได้น้อยสุดในตลาดหลักทรัพย์ และมีมูลค่า BOOK VALUE เพียง 0.22 บาทต่อหุ้น หรือ ส่วนผู้ถือหุ้นเพียง 1.3 พันล้านบาท เพียบกับ Market Cap ที่สูงเฉียด 1 หมื่นล้าน


• ข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับสินทรัพย์ของบริษัทคือ ปี 2564 บริษัทมีกำไร 1,158 ล้านบาท จากการรับหุ้นแทนการชำระด้วยเงินสด โดยกำไรที่ผิดหูผิดตา ที่ปรึกษาการเงินอิสระให้ความเห็นว่าสูงเกินจริง


• หุ้น “MORE” มีการขึ้นมาจาก 0.15 บาทต่อหุ้น ในเดือนตุลาคม 2563 สู่ เกือบ 3 บาทต่อหุ้น ในเดือน พฤศจิกายนปี 2565 และถูกทุบ 2 ฟลอร์เหลือเพียง 1.37 บาทต่อหุ้น หรือลดลงกว่า 50% ใน 2 วัน


จากข้อมูลประวัติข้างต้นของ บริษัท “MORE” ถือว่าโชกโชนไม่เบา และล่าสุดเมื่อวันพฤหัส ที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ตอนตลาดเปิดช่วงเช้า เกิดความผิดปกติ จากการทำจับคู่ทำราคาเปิดหุ้นมูลค่ากว่า 4.5 พันล้าน หรือ กว่า 1.5 พันล้านหุ้น ที่ราคา 2.90 บาทต่อหุ้น เทียบเท่ากับ 22 % ของทุนจดทะเบียน


จากข้อมูลจากผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ หลายแห่งระบุว่า ผู้ซื้อหลักๆ มีเพียง 1 ราย คือ อภิมุข บำรุงวงศ์ หรือ ปิงปอง ผู้ถือหุ้น MORE ที่ถือเดิมอยู่แล้วกว่า 13% 


โดยจากประวัติที่สืบทราบ คือ อภิมุข บำรุงวงศ์ หรือ ปิงปอง คือ อดีตพนักงานบริษัทหลักทรัพย์สีเขียว ได้ใช้บัญชีซื้อขายจาก บริษัทหลักทรัพย์กว่า 10 แห่ง เข้าทำรายการกว่า 4.5 พันล้านบาท และภายหลังตลาดเปิดเพียงไม่กี่นาที หุ้นก็ดิ่งลงสู่ราคาฟลอร์ที่ 1.95 บาทต่อหุ้น


คำถามที่ต้องสงสัยและชวนคิด คือ หากผู้ซื้อไม่มีการตกลงวางแผนอย่างแยบยลล่วงหน้า กับกลุ่มผู้ขาย เป็นไปได้อย่างไร จะมีหุ้นจำนวนมหาศาลมาจับคู่กันด้วยความบังเอิญขนาดนี้??


และหากน่าจะเป็นคือ มีการตกลงล่วงหน้า ผู้ซื้อและกลุ่มผู้ขาย ทำไมไม่ BIG LOT แทนที่จะวางซื้อวางขาย ให้จับคู่กันผ่านตลาดหลักทรัพย์? และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ราคาเปิดมีการซื้อขายมากถึง 4.5 พันล้านบาท ทั้งที่บริษัท “MORE” ทรัพย์สินและส่วนผู้ถือหุ้นเพียงหยิบมือ!

                      อภิมุข บำรุงวงศ์

 
ภายหลังจากทีมเจาะข่าวพิเศษของ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้หาข้อมูลเพิ่มเติม ตรวจสอบพบว่า


กลุ่มผู้ถือใหญ่ซึ่งมีความเป็นไปได้ และมีความเกี่ยวโยงกับ อภิมุข บำรุงวงศ์ หรือ ปิงปอง คือ ผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่ง ซึ่งคือ “อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ” หรือ “เฮียม้อ” และทายาทตระกูลพรประภา 2 รายคือ เอกภัทร พรประภา และ อธิภัทร พรประภา


โดยในกรณี “อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ” หรือ “เฮียม้อ” ถือว่าเป็นดั่งผู้มีอุปการคุณที่ อภิมุข บำรุงวงศ์ เรียกว่า “นาย” และเคยเป็นลูกค้าคนสนิทสมัย อภิมุข บำรุงวงศ์ ยังเป็นเจ้าหน้าที่การตลาด และถือหุ้นเป็นอันดับ 1 กว่า 1.5 พันล้านหุ้น หรือ กว่า 24%


และจากการตรวจสอบ “อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ” หรือ “เฮียม้อ” ยังปฏิเสธว่าตนเป็นผู้ขายจับคู่กับ อภิมุข บำรุงวงศ์ 


ส่วนในกรณีของทายาท “ตระกูลพรประภา” 2 รายคือ เอกภัทร พรประภา และ อธิภัทร พรประภา ถือเป็นคนสนิทที่สังสรรค์กันอยู่เป็นประจำ ที่คอนโดหรูแถวถนนวิทยุ และยังมีความสนใจเหมือนกันเรื่อง รถหรู Lamborghini 


โดยตรวจพบว่า เอกภัทร พรประภา หรือ คิม ถือหุ้น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นหุ้นสามัญปรกติจำนวน 122 ล้านหุ้น หรือ  1.87 % อีกส่วนคือหุ้น MORE ซึ่งเป็นหุ้น NVDR อีกกว่า 160 ล้านหุ้น หรืออีก 2.46 % รวมเป็น 282 ล้านหุ้น หรือ 4.33%

 

ส่วน อธิภัทร พรประภา ถือหุ้นอีก 139 ล้านหุ้น หรือ 2.13%


อย่างไรก็ดี ข้อมูลผู้ขายซึ่งจับคู่กันรวมกว่า 4.5 พันล้าน ยังไม่มีการยืนยันว่า ใครเป็นผู้ขายหุ้นก้อนมหึมาดังกล่าวออกมา


 
โดยตั้งแต่เกิดธุรกรรมผิดปกตินี้ กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ 10 กว่าแห่งด้านขาซื้อ ได้รวมตัวกันหารือกับทั้ง ตัวแทน ตลท. และ ฝ่ายกฎหมายของ ก.ล.ต. ด้วยความกลัวว่า อภิมุข บำรุงวงศ์ จะเบี้ยวไม่จ่ายเงินในวันจันทร์ที่ 14 พ.ย. 2565 เพราะหาก อภิมุข บำรุงวงศ์ ไม่จ่ายเงิน แต่กลุ่มผู้ขายที่จับคู่กันได้รับเงิน กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ 10 กว่ารายนี้ จะได้รับความเสียหาย ไม่ต่างกับการปล้นกลางแดด


โดยหากแจกแจงประเมินค่าเสียหาย เบื้องต้น ได้ตรวจสอบพบดังนี้


บล.กรุงศรี อาจเสียกว่า 1 พันล้านบาท


บล.เกียรตินาคิน ภัทร อาจเสียหายกว่า 700 ล้านบาท


บล.ดาโอ อาจเสียหายกว่า 600 ล้านบาท  


บล.เอเซีย เวลท์ อาจเสียหายกว่า 100 ล้านบาท


บล.คืงส์ฟอร์ด อาจเสียหายกว่า 300 ล้านบาท


และ บล.อื่นๆ ซึ่งยังไม่กล้าเปิดเผยตัวเลข เพราะเกรงกระทบต่อความมั่นใจของลูกค้าและนักลงทุน 


ล่าสุด อภิมุข บำรุงวงศ์ ได้เดินทางเข้าเจรจากับ ตลท. และกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ 10 กว่ารายที่เป็นผู้เสียหาย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป และเมื่อ 10.00 น. วันที่ 13 พ.ย.2565 ได้มีการส่งเรื่องความผิดปกตินี้สู่ ปปง. และ DSI แล้ว...


โดยความหวังกับเวลาที่เหลือก่อนถึงวันจันทร์ที่ 14 พ.ย.2565 เวลา 12.00 น. คือ การที่หน่วยงาน ตลท.หรือ ก.ล.ต.จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ หยุดธุรกรรมนี้ให้ทันการณ์ เพราะหากปล่อยไว้ อาจเสมือนปล่อยเสือเข้าป่า หรือ ปล่อยเกิดการปล้นกลางแดดก็เป็นได้


อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ยังไม่มีผู้ใดผิดจนกว่าทุกอย่างจะได้ผ่านการสอบสวนตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว 


(ติดตามต่อ ตอนที่ 2)