ธ.ก.ส. เติมทุน 5,000 ล้าน ยกระดับสถาบันเกษตรกร

10 พ.ย. 2565 | 17:18 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ย. 2565 | 00:24 น.

ธ.ก.ส.ผนึกส่วนงานราชการ สหกรณ์การเกษตร ผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัดเติมทุนหนุนการเชื่อมโยงธุรกิจเกษตร ยกระดับภาคเกษตรไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ พร้อมเติมทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินกว่า 5,000 ล้านบาท

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือการเชื่อมโยงธุรกิจสินค้าเกษตรในโครงการจัดการผลผลิตเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรและเพิ่มศักยภาพสถาบันเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ธ.ก.ส. เติมทุน 5,000 ล้าน ยกระดับสถาบันเกษตรกร

 

ภายใต้แนวคิด แก้หนี้แก้จน & ก้าวพ้นวิกฤต ระหว่างนายโสรัต โสพรรณรัตน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.และส่วนงานราชการ สหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นในห่วงโซ่การผลิต เพิ่มศักยภาพสถาบันเกษตรกรจนไปสู่การสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน

นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการและโฆษก ธ.ก.ส.เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ทำให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตภาคการเกษตรมีราคาพุ่งสูงขึ้น อาทิ ปุ๋ยเคมี เชื้อเพลิง ค่าขนส่ง ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระด้านค่าใช้จ่ายครัวเรือน รวมถึงหนี้สินที่เกิดจากการลงทุน

ธ.ก.ส. เติมทุน 5,000 ล้าน ยกระดับสถาบันเกษตรกร

 

ธ.ก.ส.ตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าวและพร้อมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาและร่วมพัฒนาศักยภาพการผลิตในภาคการเกษตรภายใต้แนวคิดการจัดการ-ออกแบบเชิงพื้นที่ “แก้หนี้ แก้จน” Design & Manage by Area (D&MBA) เพื่อจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยคนในชุมชนให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างเข้มแข็ง พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่การผลิตให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรมีรายได้อย่างยั่งยืน

 

ธ.ก.ส.ได้ร่วมกับส่วนงานราชการ สหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ สุโขทัย นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และตาก ซึ่งมีการผลิตพืชเศรษฐกิจหลักหลายชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อย ด้าเนินโครงการจัดการผลผลิตเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรและเพิ่มศักยภาพสถาบันเกษตรกรอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดแก้หนี้ แก้จน & ก้าวพ้นวิกฤต ในการเข้าไปเป็นผู้ช่วยในการจับคู่ธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

 

ภายใต้กรอบแนวคิดการออกแบบ-การจัดการเชิงพื้นที่ แก้หนี้ แก้จน D&MBA ซึ่งเริ่มตั้งแต่การศึกษาสาเหตุ ปัญหาที่เกิดขึ้นและความต้องการเกษตรกรในพื้นที่ กำหนดแนวทางแก้ไขโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ประเมินความเป็นไปได้และศักยภาพของชุมชนในการขับเคลื่อนตามแนวทางที่กำหนด

 

เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน รวมทั้งมีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน เครือข่ายทางสังคม ให้การสนับสนุนในการเติมความรู้ด้านการสร้างอาชีพเดิม เสริมอาชีพใหม่ ความรู้ด้านการเงิน เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่เกษตรกร สร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรในการรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกร จนสามารถส่งมอบผลผลิตที่มีคุณภาพที่ตรงกับความต้องการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อส่งออกจำหน่ายไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ คาดว่า จากการร่วมมือครั้งนี้จะมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดกว่า 520,353 ตัน

 

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ยังมีการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลผ่านโครงการประกันรายได้ในพืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิดได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพาราและปาล์มน้้ามัน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ซึ่งมีการจ่ายเงินไปแล้วจำนวน 142,667 ล้านบาทและมีเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 4.68 ล้านราย

 

ธ.ก.ส.ยังพร้อมสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน วงเงินรวมกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ได้แก่

  • สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนและลงทุนในการประกอบอาชีพ ดอกเบี้ย 4%ต่อปี
  • สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน เพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้และลดต้นทุนในกระบวนการผลิตอัตรา ดอกเบี้ย 4%ต่อปี
  • สินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร สำหรับลูกค้าเกษตรหัวขบวนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการด้าเนินธุรกิจ ดอกเบี้ย 4%ต่อปี
  • สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ที่เน้นสนับสนุนสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านและกลุ่มเกษตรกรในการขับเคลื่อนชุมชนให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อต่อยอดธุรกิจ สร้างรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ่านการแปรรูปผลผลิต ดอกเบี้ย 0.01%  ต่อปี

 

“ธ.ก.ส.ยังมุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการ SME เกษตรหัวขบวนและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Smart Farmer) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันภาคเกษตรไทยไปสู่ตลาดสากล”นายไพศาลกล่าว