KJL เคาะขาย IPO 13.50 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 9-11 พ.ย.นี้

08 พ.ย. 2565 | 00:09 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2565 | 02:34 น.

KJL กำหนดราคาเสนอขาย IPO ไม่เกิน 30 ล้านหุ้น ที่หุ้นละ 13.50 บาท เปิดจองซื้อวันที่ 9-11 พ.ย.65 คาดนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เดือนนี้ เงินระดมทุน จะใช้เพื่อขยายกิจการรองรับการเติบโตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

 

นายพายุพัด มหาผล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค จำกัด (มหาชน) หรือ KJL  เปิดเผยว่า KJL ได้ลงนามแต่งตั้งให้ บริษัท หลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมแต่งตั้งผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย รวม 3 ราย  ประกอบด้วย

 

  • บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด
  • บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แล
  • ะบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

 

ล่าสุด KJL  ผู้นำด้านนวัตกรรมผลิตตู้ไฟ สวิตช์บอร์ด รางเดินสายไฟ และงานโลหะแผ่นแปรรูปสั่งผลิตพิเศษ Sheet Metal Works แบรนด์สินค้า KJL และสินค้าสั่งผลิตที่มีกำลังการผลิตกว่า 20 ล้านชิ้นต่อปี ด้วยเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น แบบครบวงจร  ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 30 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 25.86 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้

 

โดยมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ราคาหุ้นละ 13.50 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ หรือ P/E  13.99 เท่า กำหนดจองซื้อวันที่ 9-11พฤศจิกายน 2565 คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 ในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม โดยใช้ชื่อหลักทรัพย์ว่า “KJL”
 

 

“การกำหนดราคา IPO ที่ระดับ 13.50 บาทต่อหุ้น นับเป็นราคาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง KJL นับเป็นหุ้นที่มีความน่าสนใจในการลงทุน เนื่องจากมีศักยภาพความพร้อมในการผลิตและการบริการที่ได้เปรียบผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน รวมถึงทีมผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์และประสบการณ์คร่ำหวอดในธุรกิจมาเกือบ 30 ปี ทำให้ลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและระดับโลกให้การยอมรับ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่องและยั่งยืน” นายพายุพัด กล่าว


ด้าน นายเกษมสันต์ สุจิวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค จำกัด (มหาชน) หรือ KJL กล่าวว่า การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอนาคตให้เติบโตแบบก้าวกระโดด สู่ความเป็นเลิศในอุตสาหกรรม

 

ภายใต้การบริหารงานโดยใช้หลัก FIST ประกอบด้วย FLEXIBLE  INNOVATION  SPEED และ TRUSTWORTHY เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งมอบสินค้าที่ได้มาตรฐานและคุณภาพด้วยรวดเร็วและตรงเวลา ตลอดจนการสต๊อกสินค้าไว้สำหรับลูกค้าเพื่อเตรียมพร้อมส่งทันทีในวันเดียวกัน ทำให้ KJL ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าด้วยดีตลอดมา 

 

 

ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการระดมทุน จะนำไปใช้ในการขยายกิจการรองรับการเติบโตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy โดยลงทุนก่อสร้างโรงงานและเครื่องจักร เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อและการให้บริการในอนาคต , ติดตั้งระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า รวมถึงมลพิษจากการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าในองค์กรเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน

 

ลงทุนสร้างศูนย์นวัตกรรม (KJL Innovation Campus) เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสการได้เปรียบทางการแข่งขัน , ชำระคืนหนี้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงินให้กับบริษัท พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน ในฐานะ “ผู้นำนวัตกรรม ตู้ไฟรางไฟ ขับเคลื่อนไฟฟ้า เพื่ออนาคต”

 

สำหรับการดำเนินธุรกิจของ KJL ที่ผ่านมา ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยผลการดำเนินงานปี 2562-2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 753.67 ล้านบาท 708.18 ล้านบาท และ 845.78 ล้านบาท ตามลำดับ เติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 5.93 ต่อปี ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 19.49 ล้านบาท 90.97 ล้านบาท และ 94.04 ล้านบาท ตามลำดับ

 

ขณะที่ การดำเนินธุรกิจของบริษัทในปี 2565 ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยผลประกอบการ 6 เดือนแรก บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 502.89 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 65.79 ล้านบาท เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน ที่มีรายได้จากการขาย 424.92 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 47.87 ล้านบาท


 “การเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ครั้งนี้ จะทำให้บริษัทบริษัท มีความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินพร้อมสนับสนุนความสามารถในการสร้างรายได้-กำไร และมีศักยภาพในการเติบโตสูงขึ้น สอดรับกับแนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตต่อเนื่อง และความต้องการพลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ช่วยผลักดันให้ผลการดำเนินงานของ KJL เติบโตอย่างก้าวกระโดด รองรับ Digital Economy พร้อมสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน ในฐานะผู้นำนวัตกรรม ตู้ไฟรางไฟ ขับเคลื่อนไฟฟ้า เพื่ออนาคตคุณ” นายเกษมสันต์ กล่าว