BTG ปิดเทรดเช้า 37.25 บาท ต่ำกว่าจอง 6.8% เล็งใช้กรีนชูรักษาเสถียรภาพ

02 พ.ย. 2565 | 14:00 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2565 | 16:03 น.

เบทาโกร (BTG )ปิดเทรดเช้าที่ 37.25 บาท ต่ำกว่าราคาไอพีโอ 6.88% ด้านที่ปรึกษาการเงิน ชี้เป็นแพนิกช่วงสั้น พื้นฐานยังแกร่ง แนะลงทุนระยะยาว พร้อมเล็งหาจังหวะเหมาะใช้กรีนชูรักษาเสถียภาพราคา

 

2 พ.ย.2565 การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเบทาโกร (BTG ) ปิดเทรดภาคเช้าราคาอยู่ที่ 37.25 บาท ลดลง 2.75 บาท หรือลดลง 6.88% มูลค่าซื้อขาย 6,035.96 ล้านบาท จากราคาเปิด 39.75 บาท ราคาสูงสุด 39.75 บาท ราคาต่ำสุด 37.00 บาท

 

นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ ประธานสายตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินากินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า เหตุที่ราคาหุ้น BTG ซื้อขายวันแรก ต่ำกว่าราคาจอง ( ไอพีโอที่ 40 บาท ) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนกังวลผลประกอบการของเบทาโกรจะชะลอตัว หลังราคาเนื้อหมู , เนื้อไก่ ปรับตัวลง เทียบจากครึ่งปีแรกที่ราคาขึ้นไปทำจุดสูงสุด อย่างไรก็ตาม อยากให้นักลงทุนมองพื้นฐานของบริษัทมากกว่า 

 

สำหรับราคาเสนอขายที่ 40 บาทต่อหุ้น คิดเป็น P/E ล่วงหน้า (Forward P/E) ที่ 9 เท่า ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับ (Forward P/E กลุ่มอุตสาหกรรมที่ 13 เท่า ) จึงแนะนำให้เข้าซื้อลงทุนระยะยาวได้

 

ส่วนโอกาสที่จะนำกรีนชู เพื่อทำการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้นออกมาใช้นั้น รอจังหวะที่เหมาะสม ขอดูภาวะตลาดรวม เพราะถ้านักลงทุนยัง Panic Sell  ก็ไม่มีประโยชน์ รอให้ตลาดค่อยๆ มีเสถียรภาพ

 

โดย บล.เกียรตินาคินภัทร ในฐานะผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Stabilizing Agent) พร้อมเริ่มทำการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้นในตลาดรอง (Stabilization) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วันแรกนับจากวันที่ 2 พฤศจิกายน เพื่อช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้นและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แกนักลงทุน

 

BTG เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 500 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลัง IPO ประกอบด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุน 434 80 ล้านหุ้น และจัดสรรหุ้นสวนเกิน (Overallotment Option) 65.20 ล้านหุ้น

 

 

 

ด้านบล.ทรีนีตี้ คาดว่า บมจ.เบทาโกร (BTG) จะกำไรปี 65 ที่ 8,370 ล้านบาท เติบโต 728%YoY จากปัจจัยหนุนด้านราคาสัตว์บกทั้งสุกรขุนและไก่เนื้อที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลบวกต่อทั้งรายได้และอัตรากำไร แม้ว่าในส่วนของต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ ข้าวโพด และกากถั่วเหลืองจะปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันก็ตาม แต่ยังมีน้ำหนักน้อยกว่าราคาสัตว์บกที่ปรับตัวขึ้น โดยราคาสุกรได้รับผลบวกจากอุปทานจากการเลี้ยงสุกรที่ลดลงหลังการระบาดของ ASF ขณะที่ราคาไก่ได้รับผลบวกจากการเปิดตลาดส่งออกใหม่ในหลายประเทศ

 

และคาดกำไรปี 66-67 ที่ 8,956 ล้านบาท (+7%YoY) และ 9,908 ล้านบาท (+11%YoY) ตามลำดับ แม้คาดราคาสัตว์บกจะยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ด้วยฐานสูงทำให้ไม่ใช่ปัจจัยหนุนให้เติบโตสูงเหมือนในปี 65 โดยปัจจัยหนุนหลักจะมาจากการขยายกำลังการผลิตในเกือบทุกธุรกิจ รวมถึงในธุรกิจที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง เช่น การขยายโรงงานแปรรูปอาหารและเนื้อสัตว์ และโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อทั้งยอดขายและอัตรากำไรโดยรวม

 

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG เปิดเผยถึงเป้าหมายและแผนการลงทุนของบริษัท 5 ปีต่อจากนี้ (ปี 2565 - 2569 ) ว่า เบทาโกรมุ่งมั่นยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว ผ่านแผนการลงทุนเพื่อขยายส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ดังนี้ 

 

 

1) ขยายกำลังการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตในอีก 5 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย อาหารสัตว์เป็น 5.5 ล้านตันต่อปี อาหารแปรรูปและไส้กรอก 223,000 ตันต่อปี โรงงานแปรรูปสุกร 4.8 ล้านตัว และโรงงานแปรรูปไก่เนื้อ 270 ล้านตัว 

 

2) มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เช่น อาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมรับประทาน รวมทั้งจะเพิ่มสัดส่วนของแบรนด์ผลิตภัณฑ์เกรดพรีเมียมและมาตรฐาน 


3) ขยายการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ในต่างประเทศ โดยมีแผนลงทุนก่อสร้างโรงงานและฟาร์มเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา 

 

4) ขยายการจัดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศและเพิ่มจุดหมายปลายทางการส่งออก ได้แก่ การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศที่สำคัญ อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง และกัมพูชา เป็นต้น การขยายไปสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่โดยเพิ่มการรับรู้แบรนด์และเข้าไปเป็นพันธมิตรใหม่กับธุรกิจท้องถิ่น รวมถึงเพิ่มจุดหมายการส่งออกจากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก และเพิ่มยอดคำสั่งซื้อของลูกค้า (pocket share) ในภูมิภาคเดิม เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร เป็นต้น 

 

นอกจากนี้ เบทาโกรยังมุ่งแสวงหาโอกาสการเติบโตใหม่ (New S-Curve) โดยจัดสรรเงินทุนรวมประมาณ 900 ล้านบาท สำหรับปี 2565-2569 เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ผ่าน Venture Building และ Venture Capital ใน 3 สาขา ได้แก่ 

 

  • 1) พัฒนาความสามารถในการเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพสูงให้แก่ผู้บริโภค 
  • 2) สร้างแหล่งโปรตีนใหม่ที่ยั่งยืน 
  • 3) เพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานในสายอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องไปกับธุรกิจหลัก เพื่อรองรับโอกาสการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

ทั้งนี้ บริษัทคาดรายได้ปีนี้จะเติบโตราว 25% หลัง 6 เดือนแรกของปี 65 มีรายได้รวม 54,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% YoY และมีกำไรสุทธิ 3,892 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 7.2%  

 

"เป้าหมายใน 5 ปี วางแผนเติบโตในอัตราที่สูงต่อเนื่อง จากปัจจุบันสัดส่วนรายได้มาจากในประเทศ 85% ส่งออก 15% โดยบริษัทมีแผนใช้ลงทุนเฉลี่ยปีละ 5,000 ล้านบาท "