ทำความเข้าใจสินค้าโภคภัณฑ์ ก่อนเริ่มต้นลงทุน

21 ต.ค. 2565 | 03:03 น.

จากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันและทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น จนมีผลทำให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น นักลงทุนเริ่มสนใจการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้ากลุ่มนี้มีลักษณะอย่างไร น่าลงทุนหรือไม่ ติดตามกันเลย

 

สินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) คือ ผลิตภัณฑ์ หรือวัตถุดิบ ที่ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของการผลิตสินค้าหรือบริการต่างๆ มีลักษณะจับต้องได้ สามารถซื้อขายได้ มีคุณสมบัติใช้แทนกันได้อย่างสมบูรณ์ (Fungibility) เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย แม้จะมาจากผู้ผลิตคนละราย เช่น ข้าวโพด โกโก้ ถั่วเหลือง น้ำมัน ทองคำ เป็นต้น โดย ราคาของสินค้ามักถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานของตลาดโลก (Demand and Supply) และมักเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อ นักลงทุนส่วนใหญ่มักมีสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน

 

สินค้าโภคภัณฑ์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

 

  • Hard Commodity เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป มนุษย์ไม่สามารถผลิตเองได้ เช่น เงิน ทองแดง ทองคำ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
  • Soft Commodity เป็นสินค้าทางการเกษตร หรือเกิดจากการผลิตของมนุษย์ เช่น เมล็ดกาแฟ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด น้ำตาล เนื้อโค เป็นต้น

 

ลักษณะของสินค้าโภคภัณฑ์

 

แม้สินค้าโภคภัณฑ์จะมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตามสินค้าแต่ละชนิดจะมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด ภัยธรรมชาติ ฤดูกาล หรือสงคราม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาข้าวโพด ข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้น ภายหลังรัสเซียประกาศหยุดส่งออก และยูเครนลดพื้นที่ปลูกลงหลังเสียพื้นที่ให้ทหารรัสเซียยึดครอง

 

การขาดแคลนหรือมีมากจนเกินไปก็ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของราคา เช่น หากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(OPEC) ประกาศว่าจะลดกำลังการผลิต ราคาน้ำมันดิบก็จะปรับตัวขึ้น หรือ สภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งทำให้ผลผลิตตกต่ำก็จะส่งผลให้ราคาสินค้ามีราคาสูงขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปก็ส่งผลต่อราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น การที่ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ลดการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูป เลือกอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากพืชที่ให้คุณค่าโปรตีนสูง (plant-based food) ทำให้ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 


 

ช่องทางการลงทุน

การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ปัจจุบันมี 3 วิธี

 

  • 1.ลงทุนทางตรง หากนักลงทุนสนใจในทองคำ คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ก็สามารถเดินทางไปซื้อที่ร้านทองได้เลย แต่ก็มีความเสี่ยงเรื่องเก็บรักษา เสี่ยงต่อการสูญหายได้ จึงอาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการเช่าตู้นิรภัยของธนาคาร แต่การลงทุนตรงในสินค้าประเภทอื่น เช่น น้ำมัน อาจทำได้ยาก หรือไม่สะดวก (ไม่สามารถซื้อเก็บไว้ในบ้านได้)

 

  • 2.ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) นักลงทุนสามารถทำกำไรผ่านการถือครองตราสารอนุพันธ์ที่มีราคาสินค้าโภคภัณฑ์อ้างอิงอยู่ได้ เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินไม่มากในการเปิดสัญญา แต่อาจไม่เหมาะกับมือใหม่ เพราะเป็นการซื้อขายที่ค่อนข้างซับซ้อน มีความเสี่ยงสูง แม้จะทำเงินได้มากอย่างรวดเร็ว ก็มีโอกาสสูญเงินได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

 

  • 3. ลงทุนทางอ้อม เป็นการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวม นักลงทุนสามารถลงทุนในหุ้นที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น การขุดเจาะ ธุรกิจเหมืองโลหะ กิจการด้านปิโตรเลียม เป็นต้น หรือลงทุนใน ETF (Exchange-Traded Fund) ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกมากมายทั้ง ETF ทองคำ น้ำมันดิบ เงิน ทองแดง อาจเป็นการลงทุนในสัญญาฟิวเจอร์ส หรือลงทุนตามดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์
     

เนื่องจากการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ผ่าน ETF เป็นการลงทุนที่สะดวกสำหรับนักลงทุน เพราะใช้เงินลงทุนไม่มาก มีความคล่องตัวในการซื้อขายมากกว่าลงทุนในสินทรัพย์นั้นโดยตรง ทั้งในแง่การส่งมอบและการเก็บรักษา มีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลสินทรัพย์แทนให้ (มีค่าธรรมเนียมเล็กน้อย) จึงอยากขอแนะนำตัวอย่าง ETF เพื่อประกอบความเข้าใจ ดังนี้

 

  • 1.ETF ทองคำ: SPDR Gold Shares (GLD US) เป็น ETF ที่ลงทุนในทองคำแท่ง เน้นสร้างผลตอบแทนกองทุนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนราคาทองคำแท่งในตลาดลอนดอน (ตามดัชนี GOLDLNPM) จดทะเบียนอยู่ในหลายตลาดหลักทรัพย์ทั้งในนิวยอร์ค สิงคโปร์ โตเกียว และฮ่องกง มี มีขนาดของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM)* $69.9bn และ expense ratio 0.4% ต่อปี ทองคำถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe heaven asset) ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ถือเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ

 

  • 2.ETF เงิน: iShares Silver Trust (SLV US) เป็น ETF ที่ลงทุนในโลหะเงิน โดยผลการดำเนินงานจะขึ้นอยู่กับราคาซื้อขายในขณะนั้น มีขนาดของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM)* $14.6bn และ expense ratio 0.5% การลงทุนในโลหะเงินได้รับความนิยมมากขึ้น มีการเคลื่อนไหวของราคาที่สอดคล้องกับราคาทองคำค่อนข้างสูง ถือเป็นการกระจายการลงทุน หรือเพื่อปกป้องความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับทองคำ

 

  • 3.ETF น้ำมันดิบ: United States Oil Fund (USO US) เป็น ETF ที่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนอ้างอิงกับราคาน้ำมันดิบโลก West Texas Intermediate-Leight Sweet Crude Oil (WTI) โดยเน้นลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ส่งมอบเดือนที่ใกล้ที่สุด เหมาะกับการลงทุนระยะสั้นมากกว่าถือลงทุนระยะยาว มีขนาดของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM)* $3.2bn และexpense ratio 0.79%
     

นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนใน ETF ตามประเภทของสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตนเองสนใจได้ อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมจัดสรรเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (Asset Allocation) เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนโดยรวม ไม่ลงทุนกระจุกตัวในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง สินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนสูง ไม่เหมาะกับการลงทุนเป็นพอร์ตหลัก (Core portfolio) ไม่ใช่การลงทุนเพื่อเน้นสร้างผลตอบแทน แต่มักเป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องเงินเฟ้อ เพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะยาวมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มความหลากหลายให้พอร์ตลงทุน

 

บทความโดย :  กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา นักวางแผนการเงิน CFP®

ที่มา  : สมาคมนักวางแผนการเงินไทย