รู้จัก Basel III Bond : หุ้นกู้เพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์

18 ก.ย. 2565 | 12:09 น.
674

ผู้ออกหุ้นกู้ในบ้านเรานอกจากจะเป็นบริษัทต่างๆ ในภาคเศรษฐกิจจริง (Real sector) แล้วก็มีธนาคารพาณิชย์ด้วย หลายคนอาจจะสงสัยว่าธนาคารที่ได้รับเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้จากการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงค่าธรรมเนียมจากบริการต่างๆ ทำไมยังจะต้องออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนอีก?

 

การดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในด้านต่างๆ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อ มีโอกาสเกิดความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระคืนหนี้หรือขาดทุนจากการลงทุน จนอาจมีผลต่อสภาพคล่องและเสถียรภาพของธนาคาร ธนาคารพาณิชย์จึงจำเป็นต้องมี buffer หรือส่วนของกันชนที่เรียกว่า เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ไว้เพื่อรองรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นรวมถึงรองรับความผันผวนในภาวะวิกฤตได้ ซึ่งธนาคารพาณิชย์สามารถออกหุ้นกู้ประเภทหนึ่งเพื่อระดมเงินทุนมาใช้สำหรับนับเป็นส่วนหนึ่งของเงินกองทุนนี้

 

Basel III Bond คือหุ้นกู้ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์เพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่อ้างอิง Basel III ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สากลที่ใช้กำกับดูแลเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ โดย Basel III Bond จะมีความแตกต่างจากหุ้นกู้ทั่วไปตรงที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนำเงินทุนที่ระดมมาได้ไปใช้รองรับผลขาดทุนในกรณีประสบปัญหาทางการเงิน โดย Basel III Bond มี 2 ประเภท คือ

 

  • Basel III Additional Tier 1 (AT1) หรือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 และ
  • Basel III Additional Tier 2 (AT2) หรือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2
     

AT1 หรือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะเป็นหุ้นกู้ที่ไม่กำหนดอายุ (Perpetual) ที่ผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดหลังปีที่ 5 เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. เพื่อรองรับผลขาดทุนของธนาคาร หุ้นกู้ประเภทนี้อาจถูกแปลงเป็นหุ้นสามัญ ลดมูลค่าหรือตัดเป็นหนี้สูญตามที่กำหนดไว้ได้ทันทีเมื่อเงินกองทุน (CET1 ratio) ของธนาคารลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดโดยไม่ต้องรอให้ทางการตัดสินใจเข้าให้การช่วยเหลือ นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์สามารถเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้โดยไม่มีเงื่อนไขและไม่มีการสะสมดอกเบี้ยที่ถูกเลื่อนจ่ายไปสมทบจ่ายในครั้งถัดไป ที่ผ่านมาหุ้นกู้ AT1 มักเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันในต่างประเทศเนื่องจากมีความเข้าใจและคุ้นเคยความเสี่ยงของหุ้นกู้ประเภทนี้มากกว่า

 

AT2 เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 มีกำหนดอายุอย่างน้อย 5 ปี โดยหุ้นกู้ประเภทนี้อาจถูกแปลงเป็นหุ้นสามัญ ลดมูลค่าหรือตัดเป็นหนี้สูญได้หากธนาคารประสบปัญหาทางการเงินที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้จนทางการตัดสินใจเข้าให้ความช่วยเหลือทางการเงิน หุ้นกู้นี้ส่วนใหญ่จะกำหนดอายุที่ 10 ปี และจะมี call option หรือผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดได้หลังครบปีที่ 5 เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ในกรณีที่ธนาคารเลิกกิจการ ผู้ลงทุนจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้คืนหลังจากผู้ฝากเงิน เจ้าหนี้มีประกัน เจ้าหนี้ไม่ด้อยสิทธิ โดยอยู่ในลำดับก่อนหน้าผู้ถือหุ้นกู้ AT1

 

 

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า หุ้นกู้ Basel III มีความเสี่ยงและความซับซ้อนมากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป เนื่องจากผู้ลงทุนอาจต้องร่วมรับผลขาดทุนของธนาคารผู้ออกหุ้นกู้ โดยเฉพาะหุ้นกู้ประเภท AT1 ที่หากเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ เงินลงทุนของผู้ถือหุ้นกู้ก็สามารถถูกลดมูลค่าหรือตัดเป็นหนี้สูญได้ หรือในกรณีของ AT2 ที่หากธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และทางการตัดสินใจเข้าช่วยเหลือทางการเงิน ก็สามารถถูกลดเงินต้นเพื่อรองรับผลขาดทุนได้เช่นกัน ซึ่งหากเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นจะทำให้ผู้ถือตราสารได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยเพียงบางส่วนหรือไม่ได้รับชำระหนี้เลย นอกจากนั้น หุ้นกู้ประเภทนี้ไม่มีสภาพคล่องมากนัก การขายเปลี่ยนมือก่อนครบอายุจึงทำได้ค่อนข้างยาก

 

แม้ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ของไทยถือได้ว่ามีความมั่นคงสูง โดยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ณ สิ้นไตรมาส 2/2565 สูงถึงร้อยละ 19.6 เทียบกับเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท. ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 11 แต่การตัดสินใจลงทุนใดๆโดยเฉพาะในตราสารทางการเงินที่มีความซับซ้อนซึ่งอาจให้ผลตอบแทนค่อนข้างจูงใจ นักลงทุนควรต้องทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงก่อนการลงทุน

 

 

รู้จัก Basel III Bond : หุ้นกู้เพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์

 

 

ที่มา  :  ตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai BMA)