ก.ล.ต. เชือด Zipmex - เอกลาภ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง

07 ก.ย. 2565 | 17:12 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2565 | 00:16 น.
563

ก.ล.ต. กล่าวโทษ Zipmex พร้อม นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) และ นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Zipmex ต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บช.สอท.) 

 

กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ที่สั่งให้นำส่งข้อมูลกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) ที่ใช้เก็บทรัพย์สินของลูกค้า และรายละเอียดเกี่ยวกับรายการโอนหรือถอนสินทรัพย์ดิจิทัล

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ระบุว่า ตามที่ Zipmex ประกาศระงับการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล การฝากถอนเงินบาท และการฝากถอนสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากประสบปัญหากับโปรแกรม ZipUp+ หรือเรียกว่า "ซิปอัปพลัส" ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการรวบรวมและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของ Zipmex นั้น

 

จากการรวบรวมและตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่กล่าวข้างต้น พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 51 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ได้สั่งให้ Zipmex และนายเอกลาภ ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Zipmex นำส่งข้อมูลเกี่ยวกับกิจการและการดำเนินงาน เช่น ข้อมูลกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) ที่ใช้เก็บทรัพย์สินของลูกค้า และรายละเอียดเกี่ยวกับรายการโอนหรือถอนสินทรัพย์ดิจิทัล

แต่ Zipmex และนายเอกลาภมีพฤติการณ์ไม่นำส่งข้อมูลดังกล่าวแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเวลาที่กำหนด และเมื่อได้รับการแจ้งเตือนจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้นำส่งข้อมูลเพียงบางส่วน ไม่ครบถ้วน รวมทั้งมีพฤติการณ์ประวิงเวลาไม่นำส่งข้อมูลตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอ โดยที่ไม่มีเหตุอันควรหรือข้ออ้างไม่สมเหตุผล

 

สำหรับการกระทำดังกล่าวของ Zipmex และนายเอกลาภเข้าข่ายเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดและมีระวางโทษตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษ Zipmex และนายเอกลาภ ต่อ บช.สอท. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

ทั้งนี้ การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ