หลังการระบาดของโควิด-19 ช่วงต้นปี 2563 ทำให้สัดส่วนสินเชื่อที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือ Stage2 ซึ่งคลอบคลุมสินเชื่อกว้างกว่าสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) พุ่งสูงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อคุณภาพหนี้ที่จะด้อยค่าลง ส่งผลให้ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ทรงตัวไม่เพิ่มขึ้นมากและมาตรการช่วงเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดคงค้างเอ็นพีแอลไตรมาส2/65 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.88%ต่อสินเชื่อรวม
นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)หรือ BAM เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพยายามประคับประคองลูกหนี้ทำให้การขายเอ็นพีแอลออกมาไม่มาก โดยครึ่งปีแรกมีหนี้ที่ขายออกมา 32,000 ล้านบาท แต่ยกเลิกบางส่วน เพราะไม่ได้ราคาที่ต้องการ ส่วนที่เหลือปีนี้ น่าจะมีธนาคารระบายทรัพย์ออกขายมากกว่า 30,000 ล้านบาท ทำให้ยอดการขายเอ็นพีแอลน่าจะกลับมาใกล้เคียงระดับก่อนโควิด ซึ่งเคยอยู่ที่ 6-7 หมื่นล้านบาท
“ช่วงที่เหลืออีก 4 เดือนของปีนี้คาดว่า ธนาคารจะระบายเอ็นพีแอลมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่ได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็ม 100% ถ้าขายหนี้ออกก็สามารถตีกลับเป็นกำไรได้ ที่สำคัญปีหน้าจะมีความท้าทายทั้งดอกเบี้ยขาขึ้นและเศรษฐกิจจะฟื้นตัวชัดเจน จึงเอื้อให้ธนาคารขายหนี้ออก เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำธุรหลัก” นายบัณฑิตกล่าว
สำหรับครึ่งปีแรก BAM ซื้อหนี้เข้ามาแล้วประมาณ 2,742 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้ 9,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจสอบวิเคราะห์สถานะคุณภาพทรัพย์(Due Diligence) อีก 17,000 ล้านบาท จึงมีความเป็นไปได้ที่จะรับซื้อหนี้ได้ตามเป้า โดยรวม BAM มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 247,000ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าหลักประกัน 180,000 ล้านบาทและสินทรัพย์รอการขาย(NPA) ราคาประเมิน 67,000 ล้านบาท
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด(มหาชน) หรือ JMT กล่าวว่า แนวโน้มเอ็นพีแอลจะไหลเพิ่มกว่า 3% จากปัจจุบันที่ 2.9% เพราะมีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการพักชำระหนี้ประมาณ 5% ที่เมื่อหมดมาตรการแล้ว ลูกหนี้กลุ่มนี้ถูกระบายขายออก ซึ่งขณะนี้ เริ่มมีสถาบันการเงินเจ้าหนี้ทั้งรายเก่าและรายใหม่ส่งหนังสือให้บริษัทเข้าประมูลหนี้บ้างแล้ว
“เชื่อว่า ตลาดรับซื้อหนี้ช่วงที่เหลือปีนี้ จะกลับมาคึกคักและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสูงกว่าครึ่งปีแรก เพราะครึ่งปีแรกลูกหนี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ บริษัทจึงใช้เงินลงทุนในการรับซื้อหนี้เพียง 1,122 ล้านบาท จากเป้าทั้งปีที่เตรียมเงินลงทุนไว้ 10,000 ล้านบาท โดยมีมูลค่าพอร์ตหนี้ไตรมาส2/65 อยู่ที่ 245,320 ล้านบาท ซึ่งเราติดตามสถานการณ์ลูกหนี้ว่า จะกลับมาชำระหนี้ได้แค่ไหน คาดว่าจะเห็นภาพชัดใน 3 เดือนจากนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา”นายสุทธิรักษ์กล่าว
นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) CHAYO กล่าวว่า คาดว่า จะมีหนี้เสียระบายออกมา 5-7 หมื่นล้านบาทในช่วงเหลือ จากครึ่งปีแรกที่สถาบันการเงินขายลูกหนี้ออกมาราว 1 แสนล้านบาท และมีสถาบันการเงินเจ้าหนี้ดึงลูกหนี้ที่มีหลักประกันกลับไปปรับโครงสร้างหนี้ราว 40% ทำให้บริษัทสามารถรับซื้อหนี้ 2,500 ล้านบาท จากเป้าทั้งปี 1-1.5 หมื่นล้านบาท
“ไตรมาส 3-4 เป็นไฮซีซั่น ปกติบริษัทจะรับซื้อหนี้ประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งปีนี้ยังมีโอกาสรับซื้อเพิ่มขึ้น แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะย่อตัวลงเล็กน้อย แต่แนวโน้มความสามารถในการชำระหนี้จะถูกลดทอนลงด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น ยิ่งถ้าแบงก์ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกจะยิ่งลดความสามารถในการชำหนี้ของลูกหนี้ทำให้หนี้ที่ใกล้จะเสียกลายเป็นหนี้เสีย รวมถึงลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ก็จะไหลกลับมาเป็นหนี้เสียอีก ซึ่งเริ่มเห็นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมแล้ว” นายสุขสันต์กล่าว
นายประชา ชัยสุวรรณ ประธานกลุ่ม บริษัท เชฎฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีสถาบันการเงิน 3-4 แห่งส่งหนังสือเชิญให้บริษัทเข้าร่วมประมูลหนี้ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม จึงเชื่อว่า ช่วงที่เหลือของปี น่าจะมีการขายหนี้เอ็นพีแอลมากกว่า 30-40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับปีที่แล้ว
“เราพบว่า นอกจากหนี้ไม่มีหลักประกัน บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลแล้ว ยังมีหนี้บ้าน หนี้รถยนต์และหนี้จากการปล่อยสินเชื่อดิจิทัลเริ่มออกสู่ตลาดแล้ว 1-2 พันล้านบาท ซึ่งยอดค้างชำระต่อรายต่ำสุดหลักพันบาทสูงสุด 1 แสนบาท เข้าใจว่า เจ้าหนี้ตัดขายออกเพราะไม่คุ้มกับการติดตาทวงถาม”นายประชากล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,811 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565