สบน.ปรับแผนกู้ หลังดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบต้นทุน

12 ส.ค. 2565 | 20:37 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2565 | 21:16 น.

สบน.รับดอกเบี้ยขาขึ้น กระทบต้นทุนกู้เงินของรัฐ พร้อมปรับแผนกู้ระยะยาวดอกเบี้ยคงที่มากขึ้น ขณะที่หนี้สาธารณะคาด ณ สิ้นปีงบฯ ปรับลดลงเหลือ 61.06% ต่อจีดีพี หลังตัวเลขจีดีพีดีขึ้น

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการกู้เงินของรัฐบาลผ่านการออกพันธบัตรออมทรัพย์อย่างแน่นอน ส่วนจะกระทบมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งส่วนใหญ่สบน.จะใช้วิธีการออกพันธบัตรระยะยาว อายุ 10 ปี

 

สบน.ปรับแผนกู้ หลังดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบต้นทุน

ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น จะกระทบกับกลุ่มเงินฝากระยะสั้น แต่การออกพันธบัตรของ สบน. จะอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว โดยปัจจุบันต้นทุนดอกเบี้ยของพอร์ตหนี้สาธารณะ 82% เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่และที่เหลือเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัว และแม้การกู้เงินตามพ.ร.ก.แก้ปัญหาโควิด จะมีการออกพันธบัตรอายุสั้นจำนวนมาก แต่สบน.ได้แปลงเป็นพันธบัตรระยะยาวค่อนข้างมาก

นางแพตริเซียกล่าวว่า ปีงบประมาณ 2565 สบน.ได้กู้เงินเกือบหมดและจ่ายดอกเบี้ยหมดแล้ว ส่วนปีงบประมาณปี 2566 ยังคงใช้แผนเดียวกับปีงบ 65 ที่เปลี่ยนการกู้เงินให้เป็นระยะยาวมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงดอกเบี้ยขาขึ้นและการปรับโครงสร้างหนี้ โดยสบน.จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ทั้งหมด ทยอยปรับการกู้ระยะสั้นเป็นระยะยาวแทน โดยใช้เครื่องมือ เช่น จ่ายเงินก่อน หรือ การทำบอนด์สวิสซิ่ง คือ การนำพันธบัตรที่ใกล้หมดอายุ เปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ที่อายุยาวขึ้น เพื่อยืดหนี้ออกไป ซึ่งปีที่ผ่านมาทำไปกว่า 1 แสนล้านบาท

 

สำหรับการปรับแผนก่อหนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า จะสามารถตรึงดอกเบี้ยคงที่ไว้ได้และไม่มีความเสี่ยงใดๆ และไม่มีผลกระทบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินในประเทศ ปัจจุบันมีมูลค่าหนี้ต่างประเทศเพียง 1.8% ของพอร์ตหนี้สาธารณะที่ 10 ล้านล้านบาท

“ในการกู้เงินผ่านการออกพันธบัตรระยะยาว สบน. จะมีการดูอย่างรอบด้าน เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ให้ตลาดเกิดภาวะช็อก จึงต้องกระจายความเสี่ยงในทุกเครื่องมือ ไม่สามารถใช้เครื่องมือที่ต้นทุนถูกที่สุดอย่างเดียวได้”นางแพตริเซียกล่าว

 

สำหรับแผนการกู้เงินในปีงบประมาณ 66 จะออกพันธบัตรออมทรัพย์ระยะยาว ประมาณ 48% เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ65 ที่มีสัดส่วน 45% การกู้ผ่านการออกตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) ที่ 25% ใกล้เคียงกับปีงบประมาณนี้ แต่สิ่งที่ลดลง คือ การออก PN หรือ ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น ซึ่งในปีงบประมาณ 65 มีการใช้ PN เกือบ 18% แต่ในปีงบประมาณ 66 จะปรับลดลงเหลือ 14% ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 66 จะมีการกู้เงินลดลง เนื่องจาก พ.ร.ก. โควิดได้สิ้นสุดลงในปีงบประมาณ 65 นี้แล้ว 

 

ขณะที่ข้อมูลหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 65 อยู่ที่ 61.06% ต่อจีดีพี ทั้งนี้จากตัวเลขจีดีพีที่ปรับดีขึ้นรวมทั้งมีการปรับแผนการก่อหนี้ใหม่ ทำให้คาดว่าหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 65 จะอยู่ที่ 61.3% ต่อจีดีพี ซึ่งลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 62.69% ต่อจีดีพี 

 

“การกู้เงินที่เกิดขึ้น จะเป็นการกู้ตามความจำเป็น ไม่ใช้การกู้มากองไว้ และอยู่ภายใต้ความเสี่ยงและต้นทุนที่เหมาะสม ทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้น ค่อยๆปรับเพิ่มขึ้น และหวังว่าหากตัวเลขจีดีพีขยายตัวได้มากขึ้น ก็จะทำให้ตัวสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยะสำคัญ ขณะที่ปีงบฯ 66 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่เท่าไหร่นั้น ยังต้องรอ ณ สิ้นปีงบฯ65 รวมทั้งตัวเลขจีดีพีสุดท้าย และแผนหนี้ทั้งหมดในปีงบฯ65 ซึ่งกำลังเข้าเสนอ คนร. ซึ่งหากผ่าน ครม. แล้วจะเห็นภาพทุกอย่างชัดขึ้น”