ค่าเงินบาทวันนี้เปิด "แข็งค่า" ที่ระดับ 35.33 บาท/ดอลลาร์

01 ก.ค. 2565 | 08:53 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2565 | 15:56 น.

ค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนและมีโอกาสอ่อนค่าในช่วงระหว่างวัน ควรระวังความผันผวนก่อนและหลังรายงานเงินเฟ้อของยูโรโซน ในช่วงราว 16.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย 

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.33 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย" จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.37 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมาบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ แต่เราคงมุมมองเดิมว่า ในระยะสั้นนี้ เงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนและมีโอกาสอ่อนค่าในช่วงระหว่างวัน ซึ่งแรงกดดันฝั่งอ่อนค่านั้นอาจมาจากแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงไทยในระยะนี้จากนักลงทุนต่างชาติ ตามบรรยากาศการลงทุนในตลาดที่ยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง นอกจากนี้ การย่อตัวลงของราคาทองคำใกล้แนวรับหลักแถว 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นบางส่วนเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (Buy on Dip) ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็สามารถกดดันเงินบาทอ่อนค่าได้

 

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงก่อนและหลังรายงานเงินเฟ้อของยูโรโซน ในช่วงราว 16.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งหากเงินเฟ้อยูโรโซนสูงกว่าคาดอาจทำให้ตลาดคาดหวังการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ ECB มากขึ้น ซึ่งอาจหนุนให้เงินยูโร (EUR) สามารถแข็งค่าขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงและเป็นปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง

ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.25-35.40 บาท/ดอลลาในตลาดการเงินส่วนใหญ่ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอย จากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง นอกจากนี้ ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ นักลงทุนยังคงเดินหน้าลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง กดดันให้ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.88% หลังจากที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดยังออกมาแย่กว่าคาด อาทิ ยอดการใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Spending) เดือนพฤษภาคม ที่ขยายตัวเพียง +0.2%m/m (ซึ่งหากหักผลของเงินเฟ้อออกจะหดตัวถึง -0.4%m/m)

 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวลงต่อเนื่องกว่า -1.50% นำโดยการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มที่อ่อนไหวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ อย่าง กลุ่มยานยนต์ Volkswagen -5.1%, กลุ่มการเงิน Intesa Sanpaolo -5.1% ท่ามกลางความวิตกของผู้เล่นในตลาดจากแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของบรรดานักวิเคราะห์ เช่น UBS ที่ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของยูโรโซนในปีนี้ พร้อมมองว่ายูโรโซนมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ Stagflation (เงินเฟ้อสูงและเศรษฐกิจชะลอตัว)

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดได้เดินหน้าเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก และรายงานเงินเฟ้อ PCE เดือนพฤษภาคม ก็ออกมาน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์เล็กน้อย ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.02% สอดคล้องกับ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของเฟดในรอบนี้ (Terminal Rate) เหลือ 3.50% จากข้อมูลของ CME FedWatch Tool  ทั้งนี้ การปรับตัวลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนเริ่มหาจังหวะขายทำกำไรได้ ซึ่งเรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังคงมีโอกาสผันผวนต่อจนกว่า ตลาดจะมั่นใจว่าเฟดจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงและ Terminal Rate จะไม่สูงกว่าที่ตลาดมองไว้ ซึ่งอาจเป็นจังหวะที่ตลาดรับรู้ข้อมูลเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน รวมถึงผลการประชุมเฟดในเดือนกรกฎาคมก่อน

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 104.7 จุด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจออกมาแย่กว่าคาด ขณะเดียวกันผู้เล่นบางส่วนก็เริ่มปรับลดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด (Terminal Rate ของเฟดลดลงเหลือ 3.50% จากที่เคยมองไว้แถว 3.75%-4.00%) ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเงินเฟ้อของยูโรโซน ซึ่งหากยังอยู่ในระดับสูงหรือสูงกว่าคาดก็อาจหนุนโอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้เร็ว ทำให้เงินยูโร (EUR) มีโอกาสปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก โดยตลาดคาดว่า สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะถูกสะท้อนผ่าน การปรับตัวลดลงต่อเนื่องของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) โดยตลาดคาดว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจขยายตัวในอัตราชะลอลง จากผลกระทบของปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงปัญหา Supply Chain ที่กดดันให้ยอดผลผลิตรวมถึงคำสั่งซื้อใหม่ลดลง สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมิถุนายนที่จะลดลงสู่ระดับ 54 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดคาดว่า รายงานเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของยูโรโซน จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 8.5% ในเดือนมิถุนายน จากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาพลังงานและอาหาร ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ อนึ่งการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อจะเปิดทางให้ ECB เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ต่อเนื่องหรืออาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยคล้ายกับเฟดได้ เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ