จับตา จีดีพีไตรมาส 1 ปี2565 วันที่ 17พ.ค.-ค่าครองชีพยังพุ่ง

16 พ.ค. 2565 | 07:51 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2565 | 15:24 น.

จับตา! จีดีพีไตรมาส1ปี2565 วันที่ 17พ.ค.2565-เปิดประเทศเศรษฐกิจไทยกระเตื้องไตรมาสสาม -ค่าครองชีพยังพุ่งสูง เงินเฟ้อเฉลี่ย 5-6%

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.กำหนดแถลง “รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี2565 ในวันอังคารที่ 17พ.ค.เวลา 8.30น. – “อนุสรณ์”ชี้เปิดประเทศเศรษฐกิจไทยกระเตื้องไตรมาสสาม -ค่าครองชีพยังพุ่งสูง เงินเฟ้อเฉลี่ย 5-6%  เตือนฟองสบู่ราคาหุ้นบริษัทไฮเทคสตาร์ทอัพและคริปโตแตกรุนแรง -นักลงทุนต้องจัดการความเสี่ยงให้ดี

 

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เปิดเผยว่า เปิดประเทศเศรษฐกิจไทยกระเตื้องไตรมาสสาม คาดจีดีพีไตรมาสสามขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3-4% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันปีที่แล้ว (YoY)

 

ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสสองปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะกิจกรรมในภาคการท่องเที่ยว และ การใช้จ่ายที่พุ่งขึ้นจากอุปสงค์ที่ชะลอช่วงก่อนหน้านี้ (Pent-up Demand)

คาดการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเร่งตัวขึ้น พร้อมกับ การขยายตัวเพิ่มขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน แต่ค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตสูง และอัตราเงินเฟ้อจะเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทย คาดจะพุ่งสูงสุดในไตรมาสสามหลังจากนั้นราคากดดันราคาพลังงานน่าจะคลี่คลายลงจากสงครามยูเครนที่น่าจะยุติลงได้ในไตรมาสสี่ เงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5-6%

 

การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นในไตรมาสสาม บวกกับ การไหลกลับของเงินทุนระยะสั้นสู่ตลาดการเงินในภูมิภาคและไทย น่าจะทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ลดแรงกดดันเงินเฟ้อได้บางส่วน คาดว่า อัตราการขยายตัวของภาคส่งออกไทยเติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง

ขณะที่ส่งออกไปรัสเซียและยูเครนหดตัวมากถึง 73% และ 77.8% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า แต่ผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยจากการส่งออกยังมีอยู่อย่างจำกัด

 

เนื่องจากไทยส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนเป็นสัดส่วนน้อยและไม่ได้มีสินค้าส่งออกสำคัญใดที่พึ่งพาตลาดรัสเซียและยูเครนมากเป็นพิเศษ

 

หากไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียและยูเครนได้เลยในช่วงที่เหลือของปี พ.ศ. 2565 ไม่ว่าจะเป็นเพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากพิษของสงคราม มาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ หรือการอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่น ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไม่ถึง 0.5% ของทั้งหมดเท่านั้น

 

และ มีแนวโน้มสงครามยูเครนน่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งปีหลัง สินค้าส่งออกไทยบางประเภทสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้ จากการทดแทนสินค้าส่งออกของรัสเซียและยูเครนในตลาดโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่สินค้าส่งออกไทยหลายประเภทมีส่วนแบ่งตลาดในยุโรปในระดับที่ดีและแข่งขันได้ เช่น สินค้าเกษตร ยางสังเคราะห์ ไม้อัด ปลาแช่แข็ง เป็นต้น

 

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า  แม้นระบบการเงินโดยรวมยังคงมีเสถียรภาพ แต่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน หนี้สินต่อรายได้ในระดับสูง จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนด้วยการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้และความสามารถในการชำระหนี้ในระยะยาวของลูกหนี้

 

ขณะที่ระบบเศรษฐกิจการเงินโลก การปรับฐานลงของราคาสินทรัพย์คริปโตยังไม่จบ มูลค่าของตลาดคริปโตล่าสุดอยู่ที่1.51 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าของ Bitcoin เกือบ 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วย Ethereum ที่ 285,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ขณะที่ตลาดทุนของสหรัฐมีมูลค่าถึง 49 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสมาคมอุตสาหกรรมหลักทรัพย์และตลาดการเงินระบุว่ามูลค่าคงค้างของตลาดตราสารหนี้สหรัฐอยู่ที่ 53-54 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ 

 

ผลกระทบของการเทขายคริปโตเคอร์เรนซีครั้งใหญ่ปลายสัปดาห์ที่แล้วส่งผลให้มูลค่าในตลาดหายไปถึง 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6.946 ล้านล้านบาทภายในหนึ่งวันทำการ ผลกระทบต่อระบบการเงินโลกยังมีจำกัด

 

แม้ว่าในภาพรวมแล้วตลาดคริปโตจะค่อนข้างเล็ก แต่ธนาคารกลางสหรัฐ กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการเสถียรภาพการเงิน (FSB) ระบุว่า Stablecoin เหรียญดิจิทัลที่ตรึงมูลค่าไว้กับมูลค่าของทรัพย์สินจริงๆ อาจเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพการเงินของโลกได้

 

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเตือนนักลงทุนอีกว่า เรากำลังขยับเข้าใกล้การสิ้นสุดของยุคฟองสบู่ของบริษัทไฮเทคสตาร์อัพแล้ว เฉพาะบริษัทที่มีคุณภาพและเป็นเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อตลาดความต้องการอย่างแท้จริงเท่านั้นที่จะอยู่รอดในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนการเงินแพงและการแข่งขันสูง

 

ขณะที่การระดมทุนแบบเสี่ยงสูงแบบ SPACs จะประสบปัญหาและไม่เติบโตอย่างเช่น 2-3 ปีที่ผ่านมา การระดมทุนแบบ SPACs นั้นมีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมากในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดย SPACs (Special Purpose Acquisition Companies) คือบริษัทที่จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์

 

และระดมเงินจากนักลงทุนแล้ว แต่ไม่มีแผนธุรกิจแน่ชัด (Blank check) อาจจะเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในธุรกิจอื่นโดยเฉพาะ หรือมีความตั้งใจจะควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการอื่น ทั้งนี้ บริษัท SPAC จะมีเวลา 2 ปีในการค้นหาธุรกิจที่น่าสนใจจะตกลงดีล มิฉะนั้น บริษัทดังกล่าวจะต้องคืนทุนให้แก่นักลงทุนโดยธุรกิจที่ได้ควบรวมกิจการกับบริษัท SPAC ก็จะสามารถระดมเงินทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้ภายใต้ชื่อของธุรกิจนั้นเลย

 

และได้รับความช่วยเหลือจากบริษัท SPACs ผ่านเงินทุนและทรัพยากร          จะมีนักลงทุนสนใจน้อยลงจากต้นทุนทางการเงินทยอยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ คริปโตเคอร์เรนซี่บางสกุลจะด้อยค่าลงและราคาลดลงอย่างรวดเร็วจนแทบไม่มีมูลค่าได้ภายในเวลาอันสั้น เตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังการเก็งกำไรสินทรัพย์ทางการเงินเหล่านี้มากเป็นพิเศษ เพราะสภาวะต่างๆไม่เหมือนกับยุคดอกเบี้ยต่ำอีกแล้ว 

 

ทางด้านบริษัทที่ต้องการระดมทุนในตลาดการเงิน มีข้อดี 4 ประการสำหรับการทำ SPAC IPO ได้แก่

1. การควบรวมกิจการเข้ากับ SPAC สามารถเกิดขึ้นได้ภายใน 5-6 เดือน เมื่อเทียบกับ 12-24 เดือนสำหรับการเสนอขายหุ้น IPO แบบดั้งเดิม

2. บริษัทที่อยากเข้าตลาดสามารถใช้ข้อความคาดการณ์ล่วงหน้า (Forward Looking Statements) เมื่อต้องการให้ SPAC สนใจ

3. สำหรับบริษัทที่มีโมเดลธุรกิจซับซ้อน ยากต่อการเข้าใจ หรือบริษัทที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั่วไปมีปัญหาในการประเมินมูลค่า แรงจูงใจในการเสนอขายหุ้น IPO จะลดลงเพราะอาจระดมเงินทุนได้ไม่มากส่วนการควบรวมกิจการกับ SPAC บริษัทสามารถขายตัวเองให้กับ SPAC ซึ่งจะสามารถเข้าใจและให้มูลค่าที่แท้จริงกับธุรกิจของบริษัทได้ดีกว่า

4. มีแนวโน้มที่บริษัทจะขายตัวเองได้ในราคาที่สูงกว่าการเสนอขายหุ้นแบบเดิม (Traditional IPO) ส่วนของนักลงทุน การลงทุนใน SPAC IPO ก็มีข้อดี คือ  1. นักลงทุนที่ลงทุนใน SPAC IPO ตั้งแต่เริ่มแรกอาจมีโอกาสเป็นเจ้าของหุ้นของบริษัทที่นักลงทุนหมายปองได้มากกว่า 2. นักลงทุนใน SPAC IPO จะมีตัวเลือกในการไถ่ถอนหุ้น (ขอเงินคืน) พร้อมดอกเบี้ย จึงนับว่ามีการประกันคืนเงิน

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า การลงทุนและระดมทุนแบบ SPAC มีความน่าสนใจลดลงมากเพราะดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงของ SPAC ทั้งสำหรับนักลงทุนและบริษัทเพิ่มขึ้นในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น โดยการลงทุนในบริษัท SPAC หลังการเสนอขายหุ้น IPO อาจไม่คุ้มค่าในบางกรณี

 

ยกเว้นเป็นบริษัทที่พื้นฐานดีและมีการเติบโตสูงต่อเนื่อง แต่หากสภาวะตลาดขณะนั้นไม่เอื้ออำนวย นักลงทุนอาจขาดทุนได้มากเช่นกัน แม้ว่าจะสามารถไถ่ถอนหุ้น SPAC ได้ แต่นักลงทุนก็จะได้รับเงินคืนเท่ากับเงินลงทุนตั้งต้นพร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น

 

จึงเป็นการเสียโอกาสในการลงทุนหากเงินลงทุนนั้นถูกทิ้งไว้นาน ยิ่งในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนค่าเสียโอกาสก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก ความเสี่ยงที่นักลงทุนอาจประเมินบริษัท SPAC ผิดพลาด เนื่องจากชื่อเสียงของผู้สนับสนุน SPAC อาจกำลังใช้ความมีชื่อเสียงนี้ในการบดบังจุดอ่อนของ SPAC เอง

 

นอกจากนี้ในมุมของบริษัทที่ต้องการระดมทุน ค่าใช้จ่ายของการเสนอขายหุ้น SPAC อาจมีราคาแพงมากกว่าที่คิด แม้ว่าในเบื้องต้นค่าใช้จ่ายสำหรับ SPAC IPO จะถูกกว่า Traditional IPO ก็ตาม

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทไทยที่มีการลงทุนใน SPAC ยังมีจำกัด หากเกิดปัญหาขึ้น ระบบสถาบันการเงินและตลาดการเงินไทยสามารถรับมือได้ เพียงแต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากความผันผวนของราคา หากนักลงทุนสามารถจัดการบริหารความเสี่ยงได้ดี จะมีช่องว่างแห่งโอกาสเกิดขึ้นภายใต้ความเสี่ยงจากความผันผวน