ภาษี e- Service ดันรายได้สรรพากร 6 เดือน ทะลุเป้า 14%

29 เม.ย. 2565 | 17:58 น.
อัปเดตล่าสุด :30 เม.ย. 2565 | 00:58 น.

สรรพากรโชว์ผลงาน หาเงินเข้าประเทศ 6 เดือน เกินเป้า 101,695 ล้านบาท หรือพุ่งกว่า 14% ผลจากภาษี e-Service เริ่มบังคับใช้ 1 ก.ย.64 ทำรายได้กว่า 4,162.25 ล้านบาท มั่นใจทั้งปีจะเก็บใกล้เคียง 1 หมื่นล้านบาทสูงกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ 5,000 ล้านบาท

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า  ผลการจัดเก็บรายได้ ภาษี e-Service ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ(VAT for Electronic Service: VES) รวม 4,162.25 ล้านบาท จากยอดมูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์รวม 60,874.98 ล้านบาท ของ VES 127 ที่มาจดทะเบียนกับกรมสรรพากร และคาดว่า ทั้งปีงบประมาณ 65 จะเก็บ ภาษี e-Service ได้ใกล้เคียงหนึ่งหมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ประมาณ 5,000 ล้านบาท

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร


สำหรับผลการจัดเก็บ ภาษี e-Service สะสม 6 เดือน (ต.ค.64-มี.ค.65) มาจากแพลตฟอร์มบริการโฆษณาออนไลน์ มีมูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ 38,421.59 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,689.51 ล้านบาท แพลตฟอร์มบริการขายสินค้าออนไลน์ มูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ 15,904.13 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,113.29 ล้านบาท 

แพลตฟอร์มบริการสมาชิก เพลง หนัง เกมส์ฯลฯ มูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์  5,718.61 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 400.30 ล้านบาท แพลตฟอร์มบริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง มูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์  528.96 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 37.03 ล้านบาท และแพลตฟอร์มจองที่พัก ตั๋วเดินทาง ฯลฯ มูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ 301.68 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม  21.12 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ กฎหมายภาษี e - Service นี้ เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม   ในประเทศไทยและมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

ภาษี e – Service จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการไทย ที่ทำธุรกิจบริการออนไลน์และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติที่ให้บริการออนไลน์เหมือนกันไม่ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 

 

นอกจากภาษีนี้จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันแล้ว ภาษี  e - Service ยังเป็นการเพิ่มรายได้ทางหนึ่งให้กับประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ การเก็บภาษี  e - Service จะช่วยให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่จะสามารถนำไปใช้ในการคำนวณเป็นฐานภาษีใหม่ที่จะเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย           
            

“การจัดเก็บภาษี e - Service ซึ่งเป็นภาษีประเภทใหม่ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้ครึ่งแรกของปีงบประมาณ (เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) ได้เกินเป้าตามเอกสารงบประมาณ  101,695 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14% แต่อีกส่วนมาจากเครื่องมืออื่น ๆ เช่น data analytics ซึ่งมีการนำมาใช้เต็มรูปแบบในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้กรมสรรพากรสามารถระบุกลุ่มสาขาเป้าหมายที่มีศักยภาพ
ได้เพิ่มเติมและตรงเป้ามากขึ้น”ดร.เอกนิติกล่าว