ดาวโจนส์ปิดบวก 238 จุด นักลงทุนช้อนซื้อหลังหุ้นดิ่งลงหนัก

26 เม.ย. 2565 | 06:47 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2565 | 14:07 น.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (25 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนช้อนซื้อในช่วงท้ายตลาด ขณะที่ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า 1% จากราคาหุ้นทวิตเตอร์ทะยานขึ้นกว่า 5% ขานรับข่าวนายอีลอน มัสก์ บรรลุข้อตกลงซื้อกิจการทวิตเตอร์

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดที่ 34,049.46 จุด เพิ่มขึ้น 238.06 จุด หรือ +0.70%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,296.12 จุด เพิ่มขึ้น 24.34 จุด หรือ +0.57% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,004.85 จุด เพิ่มขึ้น 165.56 จุด หรือ +1.29%
         

ช่วงแรกของการซื้อขาย ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงเกือบ 500 จุด ซึ่งเป็นการปรับตัวลงต่อเนื่องจากวันศุกร์ที่ดัชนีร่วงลงเกือบ 1,000 จุด ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นในช่วงท้ายตลาด เนื่องจากนักลงทุนเข้าช้อนซื้อ
         

หุ้น 6 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้น 1.44% โดยหุ้นไมโครซอฟท์ พุ่งขึ้น 2.44% หุ้นอัลฟาเบท พุ่งขึ้น 2.87% หุ้นเมตา แพลตฟอร์มส ดีดขึ้น 1.56% หุ้นแอมะซอน เพิ่มขึ้น 1.19%  

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ได้รับปัจจัยหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีที่ร่วงลงสู่ระดับ 2.797% เมื่อคืนนี้
         

หุ้นทวิตเตอร์ พุ่งขึ้น 5.66% หลังจากทวิตเตอร์ประกาศยอมรับข้อเสนอซื้อกิจการมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ จากนายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเทสลา
         

อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง 3.34% หลังจากราคาน้ำมัน WTI ดิ่งลงกว่า 3% โดยหุ้นเชฟรอน ร่วงลง 2.20% หุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ ดิ่งลง 4.47% หุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 3.37% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ทรุดลง 6.26%

นักลงทุนจับตาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงแอปเปิล, เมตา แพลตฟอร์มส์, ไมโครซอฟท์, แอมะซอน และอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล
         

นอกจากนี้ ยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐในสัปดาห์นี้ด้วย ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมี.ค., ยอดขายบ้านใหม่เดือนมี.ค., ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนมี.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1, ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน