ผู้ค้าสลากออนไลน์อ่วม สรรพากรเข้าสอบภาษี

06 เม.ย. 2565 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :06 เม.ย. 2565 | 20:35 น.
1.6 k

ผู้ค้าสลากออนไลน์ มีหนาวสรรพากรจ่อตรวจภาษีถูกต้องหรือไม่ ชี้กำไรสำแดงต่ำเกินจริง แถมซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มเลี่ยงยาก ด้านสำนักงานสลากเอาจริง ตัดสัญญาโควตา 8,964 ราย ที่นำไปขายผ่านมังกรฟ้า ทันที 16 พ.ค.นี้

นโยบายการควบคุมราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ให้เกินใบละ 80 บาทของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำมาซึ่งการลุยตรวจค้นสถานประกอบการของผู้ค้าสลากออนไลน์ 3 แห่งได้แก่ บริษัท มังกรฟ้า ลอตเตอรี่ จํากัด, บริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด และบริษัท เสือแดงลอตเตอรี่ ออนไลน์ จำกัด ซึ่งคุมการขายสลากออนไลน์ถึง 90% และมีสลากกินแบ่งรัฐบาลเกือบ 7 ล้านใบ

 

การเข้าตรวจค้นสถานประกอบการของผู้ค้าสลากออนไลน์ทั้ง 3 แห่งก็เพื่อตรวจสอบสลากที่เก็บรักษาไว้ในสถานประกอบการทั้ง 3 แห่งเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลของจริงหรือไม่ สลากที่นำมาสแกนและโพสต์ขายอยู่ในระบบโควตาของผู้ค้ารายย่อยโดยถูกต้องหรือไม่และเป็นของตัวแทนจำหน่ายสลากที่ได้รับจัดสรรโควตารายใด และมีการเสนอขายสลากเกินราคาหรือไม่ รวมถึงมีการนำสลากฉบับเดียวกันมาวนขายซ้ำหรือไม่ 

ล่าสุดพ.ท.หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเปิดเผยว่า  จากการตรวจค้น  2 จุด ที่บริษัท มังกรฟ้า ล็อตเตอรี่ จำกัด และ บริษัท มังกรฟ้าแม่พลอย ครัวอยู่ศรี จำกัด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี และบริษัท มังกรฟ้าฯ สาขาเมืองเลย อ.เมืองเลย จ.เลย จากการตรวจค้น พบสลากกินแบ่งรัฐบาลรวมทั้งหมด 2,027,500 ใบหรือ 20,275 เล่ม

พ.ท.หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

จากการตรวจสอบสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวพบว่า เป็นสลากที่จัดสรรให้ตัวแทนรายย่อย 1,649 เล่ม หรือ 1,181 ราย ในส่วนของสมาคม/องค์กร 2,281 เล่ม จาก 181 องค์กร และเป็นสลากในส่วนของผู้ซื้อ-จองล่วงหน้าฯ จำนวน 16,345 เล่ม หรือ 7,602 ราย รวมจำนวนสลาก 20,275 เล่ม จากตัวแทนจำหน่ายรายย่อย สมาคม/องค์กร และผู้ซื้อ-จองล่วงหน้าฯ รวม 8,964 ราย

ดังนั้นสำนักงานสลากฯ จึงยกเลิกสัญญา-ตัดสิทธิตัวแทนจำหน่ายรายย่อย และผู้มีสิทธิซื้อจอง ที่พบสลากบนแพลตฟอร์มมังกรฟ้าแล้ว มีผลตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป

 

แหล่งข่าวจากวงการค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผู้ค้าสลากออนไลน์มีส่วนที่ทำให้สลากมีราคาแพง เพราะมีการกว้านซื้อจากตัวแทนจำหน่ายที่ราคา 90-95 บาท ทั้งที่ราคาหน้าตั๋วหากขายตามที่กำหนด 80 บาทก็ได้กำไร 9.60 บาทอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อราคารับซื้อสูงกว่าราคาหน้าตั๋วขนาดนั้น ก็ถือว่าทำให้ราคาสลากแพงอยู่แล้ว

 

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ผู้ค้าสลากออนไลน์จะไม่ได้มีปัญหาเพียงแค่การขายสลากเกินราคาเท่านั้น เพราะค่าปรับน้อยมาก แค่เพียงงวดละไม่เกิน 1 หมื่นบาทเท่านั้น จึงมีคนจำนวนมากที่จะยอมทำผิด เพราะกำไรที่ได้เมื่อเทียบกับค่าปรับห่างกันมาก แต่สิ่งที่ผู้ค้าสลากจะต้องเจอคือ การจัดเก็บภาษีจากกรมสรรพากร เพราะในทีมที่ลงพื้นที่มีเจ้าหน้าที่จากกรมสรรพากรร่วมทีมด้วยอยู่แล้ว

 

“อย่างที่มังกรฟ้าแจ้งผลประกอบการปี 2563 ที่บอกว่า มีกำไรเพียง 1 ล้านบาทนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะถ้าสลาก 3 ล้านใบ กำไรใบละ 1 บาท ก็ได้กำไร 3 ล้านบาทต่องวด แล้วเดือนหนึ่งมี 2 งวดจะได้ 6 ล้านบาท ปีหนึ่งจะได้ถึง 72 ล้านบาท และจะมาเลี่ยงก็ยากด้วย เพราะทุกอย่างซื้อขายบนแพลตฟอร์ม มีข้อมูลทุกอย่าง” แหล่งข่าวระบุ

 

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การตรวจภาษีของผู้ค้าสลากออนไลน์เป็นกระบวนการทำงานปกติของสรรพากรพื้นที่อยู่แล้ว เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานเข้ามาว่า มีการตรวจสอบอย่างไรและผลที่ออกมาเป็นอย่างไร เข้าใจว่า น่าจะอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบด้วย

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

ด้านนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลกล่าวว่า การตรวจสอบผู้ค้าสลากออนไลน์เพิ่มเติมถือเป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่จะมาขยายผลหลังจากนี้ อย่างที่กระทรวงดีอีบอกว่า จะให้ตรวจสอบการฟอกเงินด้วยนั้น ก็ขึ้นกับการพิจารณาของหน่วยงานนั้น รวมถึงประเด็นภาษีด้วย

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล

“สำนักงานสลากพอใจแค่ที่รู้ว่า สลากที่เราเจอเป็นของจริงหรือไม่ มีการนำในส่วนที่ได้รับโควตาจากสำนักงานสลากไปขายหรือไม่ และเป็นของใคร รวมถึงมีการขายเกินราคาหรือไม่เท่านั้น เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ที่เราทำได้” นายลวรณกล่าว

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,772 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2565