ทองคำนิวยอร์กปิดพุ่ง 15 ดอลล์ เงินเฟ้อพุ่งหนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

01 เม.ย. 2565 | 07:08 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2565 | 14:09 น.

ทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) สูงสุดรอบเกือบ 40 ปี รวมถึงแรงหนุนจากความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 15 ดอลลาร์ หรือ 0.77% ปิดที่ 1,954 ดอลลาร์/ออนซ์
         

  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 2 เซนต์ หรือ 0.08% ปิดที่ 25.133 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 5.4 ดอลลาร์ หรือ 0.54% ปิดที่ 995.8 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 12.50 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 2,255.60 ดอลลาร์/ออนซ์

         

เมื่อพิจารณาตลอดเดือนมี.ค. สัญญาทองคำปรับตัวขึ้นทั้งสิ้น 2.8% และตลอดไตรมาส 1/2565 สัญญทองคำพุ่งขึ้น 6.9%
 

นักลงทุนพากันเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน ขณะที่รายงานล่าสุดระบุว่า หลายประเทศต่างแสดงความไม่พอใจ หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า ประเทศที่ซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจะต้องชำระเงินเป็นสกุลรูเบิลเท่านั้น เริ่มตั้งแต่วันนี้ (1 เม.ย.) หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ก็จะถูกยกเลิกสัญญา

 

การกล่าวย้ำอีกครั้งของประธานาธิบดีปูตินในวันนี้ ทำให้หลายชาติในยุโรปแสดงความผิดหวังต่อรัสเซีย และเตรียมการรับมือภาวะขาดแคลนพลังงานที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าสหรัฐให้คำมั่นที่จะเพิ่มการส่งออกก๊าซมายังยุโรป แต่คาดว่าจะไม่สามารถทดแทนก๊าซจากรัสเซียได้เต็มจำนวน


นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2526
         

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ