6 พฤติกรรมการเงิน เคล็ดลับความสำเร็จของนักลงทุนระดับโลก

27 มี.ค. 2565 | 11:03 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2565 | 18:17 น.

นักลงทุนระดับโลก แนะนำให้เห็นถึงพฤติกรรมการเงิน ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนและแนวทางการแก้ไขเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาว

พฤติกรรมการเงินคืออะไร? และส่งผลต่อการลงทุนของเราอย่างไร?

 

พฤติกรรมการเงิน (Behaviour Finance) ถ้าอธิบายง่ายๆ คือความลำเอียงหรืออารมณ์ของเรา ที่ส่งผลให้เราตัดสินใจโดยไม่มีเหตุผล พฤติกรรมการเงินที่ทำให้เราพยายามจับจังหวะตลาด ลงทุนในสิ่งที่เราไม่รู้ ไม่มีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม เป็นต้น สุดท้ายก็จะทำให้เราซื้อหุ้นติดดอยหรือซื้อแพงขายถูก

 

ผู้เขียนขอนำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจบางส่วนจากหนังสือ Unshakable เขียนโดย Tony Robbin

 

จากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 – 2009 หลังจากนั้นเป็นเวลาถึง 7 ปี Tony ใช้เวลาเข้าสัมภาษณ์นักลงทุนระดับโลกมากกว่า 50 คน ไม่ว่าจะเป็น Ray Dalio, Jack Bogle, Carl Ichan, Warrant Buffett เพื่อรวบรวมข้อมูลมาเขียนหนังสือเล่มนี้

 

สิ่งที่นักลงทุนระดับโลกแนะนำให้เห็นถึงพฤติกรรมการเงินของนักลงทุนส่วนใหญ่ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนและเราจะแก้ไขพฤติกรรมเหล่านี้อย่างไร เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาว

 

 

 

เรามาสรุป 6 พฤติกรรมที่ทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดในการลงทุนและวิธีแก้ไขพฤติกรรมเหล่านี้

 

พฤติกรรมที่ 1 มองหาสิ่งยืนยันความเชื่อของตัวเอง

 

นักลงทุนส่วนใหญ่ ชอบมองหาข้อมูล ที่มาสนับสนุนความเชื่อหรือมุมมองของตนเอง พฤติกรรมนี้ เรียกว่า Confirmation Bias เมื่อนักลงทุนเกิด Confirmation Bias พวกเขาจะพยายามหาข้อมูลวงใน ข่าวลือ บทวิเคราะห์ เพื่อสนับสนุนหุ้นที่พวกเขาซื้อ และทำให้ตัวเองเชื่อว่าหุ้นตัวนี้ดีและซื้อเพิ่ม ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงหุ้นตัวนั้นกำลังราคาลดลงหรือพื้นฐานเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม เราสามารถปกป้องตัวเองจากพฤติกรรมนี้ ด้วยการมองหาผู้เชี่ยวชาญการลงทุน หรือ ที่ปรึกษาทางการเงิน ที่เราไว้ใจ มีทักษะ และประสบการณ์การลงทุนโดย ขอคำแนะนำหรือศึกษาการลงทุนจากพวกเขา

 

พฤติกรรมที่ 2 เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

 

ข้อผิดพลาดที่นักลงทุนส่วนใหญ่ทำคือ เมื่อตลาดขึ้น  ( Bull Market) นักลงทุนจะคิดว่ามันจะขึ้นต่อและซื้อหุ้นต่อไป ในขณะเดียวกันเมื่อตลาดลง (Bear Market) นักลงทุนจะขายหุ้น เพราะเชื่อว่าตลาดจะลงอีก พฤติกรรมนี้ เรียกว่า Recency Bias พฤติกรรมนี้ทำให้ประสบการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อจิตใจมากกว่าประสบการณ์ในอดีต สมมติเมื่อตลาดขึ้น (Bull Market) สมองของเราจะรับรู้ประสบการณ์ที่เป็นบวก เราจะคิดไปเองว่าราคาหุ้นจะสูงขึ้นอีก และเริ่มซื้อหุ้นเพิ่ม

 

เราสามารถปกป้องตัวเองจากพฤติกรรมนี้ ด้วยการทำ Rebalance เช่น ถ้าหุ้นขึ้นให้ขายหุ้นออกบางส่วนเพื่อทำกำไรและลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน การทำ Rebalance จะทำให้คุณได้ซื้อของถูกเวลาที่ตลาดหุ้นลง และขายของแพงเมื่อตลาดหุ้นขึ้น

พฤติกรรมที่ 3 มั่นใจมากเกินไป

 

พฤติกรรม Overconfidence คือนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะประเมินความสามารถ ความรู้ และการคาดการณ์อนาคตของตนเองสูงเกินไป พวกเขามักคิดว่าตัวเองสามารถทำนายตลาดหุ้นในอนาคตได้หรือเลือกหุ้นที่ดีที่สุดได้

 

เราสามารถปกป้องตัวเอง จากความมั่นใจมากเกินไปด้วยวิธีง่ายๆ คือซื่อสัตย์กับตัวเองและยอมรับความจริงว่าไม่มีใครสามารถทำนายอนาคตได้

 

พฤติกรรมที่ 4 ความโลภ การพนัน และการเก็งกำไรจากหุ้นเด็ด

 

ร่างกายมนุษย์จะหลั่งสารแห่งความสุข (endorphins) เมื่อเราได้กำไรหรือชนะ ดังนั้นนักลงทุนส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มชอบลงทุนในหุ้นเด็ด ซื้อขายเก็งกำไร เพื่อหวังกำไรก้อนงามๆในระยะสั้น ตลาดหุ้นจึงเปรียบเสมือน CASINO สำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่

 

วิธีรับมือกับความโลภ คือ อดทนและลงทุนโดยมุ่งหวังผลตอบแทนระยะยาว มีความสุขกับผลตอบแทนทบต้น และติดตามพอร์ตการลงทุนของเราปีละครั้ง

 

พฤติกรรมที่ 5 ลงทุนในประเทศตัวเอง (Staying Home)

 

ธรรมชาติของมนุษย์ชอบอยู่ใน COMFORT ZONE เราอยู่ในประเทศไทย เราก็จะลงทุนแต่ในตลาดหุ้นไทย ถึงแม้ว่าในความเป็นจริง ตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของตลาดหุ้นทั่วโลก นักลงทุนส่วนใหญ่จะติดกับอะไรก็ตามที่พวกเขารู้ดีและคุ้นเคย พฤติกรรมนี้ เรียกว่า Home Bias

 

วิธีจัดการกับพฤติกรรมนี้ คือ การกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่แตกต่าง(Diversification) เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้น อสังหาฯ เป็นต้น และกระจายลงทุนหลากหลายประเทศ

 

พฤติกรรมที่ 6 การมองโลกในแง่ลบและกลัวการสูญเสีย

 

ธรรมชาติของมนุษย์มีแนวโน้ม จดจำประสบการณ์เชิงลบมากกว่าประสบการเชิงบวก พฤติกรรมนี้ เรียกว่า Negativity Bias พฤติกรรมนี้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของเราอย่างไร? เช่น ตอนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง (ปี 2540) หรือ เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008-2009 นักลงทุนที่ลงทุนอยู่ในช่วงเวลานั้น จะรู้สึกเจ็บปวดและหลีกเลี่ยงความสูญเสีย ทำให้พวกเขากลัวการลงทุนในตลาดหุ้นในอนาคต ถึงแม้ว่าตลาดจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

 

ดังนั้นเราสามารถหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดจากความสูญเสีย หรือ จำกัดความรุนแรงให้อยู่ในระดับที่คุณสามารถรับได้ ด้วยการเตรียมตัว ศึกษาหาความรู้ เรียนรู้วัฏจักรตลาดหุ้นในอดีต และทำ asset allocation

 

ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าเราได้เรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมเหล่านี้ จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุนอย่างแน่นอน เพราะเราสามารถควบคุมตัวเราและไม่ให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลในการลงทุน

 

โดย :  กชจุฑา เพียรวนิช ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM  สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก :  หนังสือ Unshakable