สบน. ปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ หลังเสี่ยงดอกเบี้ยขาขึ้น

07 มี.ค. 2565 | 08:25 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2565 | 15:37 น.

สบน. เผย เดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ลดเสี่ยงจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ตั้งเป้าปีงบฯ65 ปรับพอร์ตหนี้ระยะสั้น ให้เป็นหนี้ระยะยาว 1.1 – 1.3 ล้านล้าน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ยันรัฐบาลยังไม่ถังแตกและมีเครดิตดี พร้อมเกาะติดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต่อผลกระทบตลาดเงิน

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึง สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะนี้ ยังไม่มีใครสามารถประเมินได้ว่ายืดเยื้อและส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แม้แต่ธนาคารกลางของหลายๆประเทศ ยังอยู่ระหว่างการประเมินและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และยังมีคำถามที่ว่าเฟดจะมีการขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ เพราะขณะนี้สถานการณ์ไม่เหมือนเดิม

 

ขณะที่นักลงทุนเริ่มขยับจากสินทรัพย์เสี่ยงสู่สินทรัพย์ปลอดภัย สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐก็เริ่มปรับตัวลงมา ซึ่งในส่วนของพันธบัตรไทยยังต้องใช้เวลาประเมินอีกซักระยะว่าทิศทางของบอนด์ยิลด์จะเป็นแบบใด

แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบายจะมีการปรับขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะช้าหรือเร็วยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการก่อหนี้อย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้ สบน. ได้วางกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะ ภายใต้แผนดอกเบี้ยจะขึ้น ซึ่งทีมบริหารหนี้ได้รับรู้ความเสี่ยงตั้งแต่ช่วงต้นปีงบประมาณ 65 จึงได้วางแผนในการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ โดยการปรับพอร์ตหนี้ระยะสั้น ที่เป็นแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ให้เป็นหนี้ระยะยาวแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่มากขึ้น 

โดยปัจจุบันสัดส่วนพอร์ตหนี้สาธารณะของรัฐบาล เป็นหนี้แบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ 83% และอีก 17% เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว

 

ขณะที่ต้นทุนจากดอกเบี้ยของพอร์ตหนี้ทั้งหมดของรัฐบาลปัจจุบัน อยู่ที่ 2.3% ต่ำกว่าปี 60 ที่อยู่ที่ 3.5%  ซึ่งปีงบประมาณ 65 คาดว่าจะมีการปรับพอร์ตหนี้ระยะสั้น ให้เป็นหนี้ระยะยาว ประมาณ 1.1 – 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีการออกพันธบัตรรัฐบาลมา และสูงกว่าปีก่อนที่ออกไป 8 แสนล้านบาท

 

“ปี 64 เป็นปีที่รัฐบาลมีการกู้สูง จึงมีการใช้เครื่องมือกู้เงินระยะสั้นค่อนข้างมาก ทั้งการออก P/N และ Term Loan จากสถาบันการเงินในประเทศซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เพราะขณะนั้นอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่ง สบน. ก็ได้เริ่มทยอยทำการปรับหนี้ที่เป็นแบบดอกเบี้ยลอยตัวและใกล้ครบอายุ ให้เป็นหนี้ระยะยาว แบบดอกเบี้ยคงที่ ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้อนุด้านความเสี่ยงฯ ได้พิจารณาว่า ในภาพรวมของพอร์ต เฉลี่ยแล้วไม่ควรเกิน 15 ปี” ผอ.สบน. กล่าว

 

แพตริเซีย มงคลวนิช ผอ.สบน.

 

นางแพตริเซีย กล่าวว่า ความต้องการพันธบัตรไทยยังมีอยู่สูง โดยสภาพคล่องในประเทศมีอยู่ 3 ล้านล้านบาท แต่สภาพคล่องส่วนใหญ่เป็นแบบระยะสั้น ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ ขณะเดียวกันทิศทางดอกเบี้ยก็เป็นขาขึ้น ดังนั้น สบน. จึงปรับไปกู้ระยะยาวแบบดอกเบี้ยคงที่ โดยมองที่นักลงทุนกลุ่มสถาบัน หรือบริษัทประกัน และยังคงเน้นการกู้ในประเทศเป็นหลัก โดยอายุของพันธบัตรของสบน.จะพยายามให้อยู่ช่วงอายุ 9-10 ปี หรือไม่ให้เกิน 15 ปี

 

นอกจากนี้ นางแพตริเซีย ยังกล่าวถึงแผนก่อหนี้สาธารณะในปี 65 ว่า รัฐบาลจะต้องทำการกู้เงินทั้งหมดรวม 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมหนี้เก่าจากการปรับโครงสร้างหนี้ และการก่อหนี้ใหม่ และจะเป็นปีที่รัฐบาลทำการกู้ด้วยการออกพันธบัตรระยะยาว สูงที่สุดที่เคยทำมา พร้อมยืนยันรัฐบาลยังไม่ถังแตก และยังมีเครดิตดี สะท้อนจากการออกพันธบัตรรัฐบาลทุกครั้ง ยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี  

 

ส่วนแผนการกู้เงินในอนาคตมองว่า การกู้เงินเพื่อเยียวยาโควิดคงไม่มี เนื่องจากไม่มีการปิดประเทศ แต่หากรัฐบาลต้องการลงทุนเพื่อปฏิรูปประเทศ เพดานเงินกู้ที่กำหนดไว้ว่าไม่เกิน 70 % ถือว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายด้วยว่า จะมีแผนกู้นำเงินไปใช้จ่ายอย่างไร โดยสิ้นปีงบประมาณ 65 คาดการณ์หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 62% เพิ่มจากปัจจุบัน 59.88%  

 

“สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อก่อหนี้ขึ้น คือ ความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง  เช่น ต้นทุนดอกเบี้ย รวมถึงต้องดูการปฏิรูปการจัดเก็บภาษี เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลและการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะระดับหนี้ที่สูง หากรายได้รัฐบาลไม่เพิ่มขึ้นก็เป็นความท้าทายในการบริหารงบประมาณ เนื่องจากภาระดอกเบี้ยจะสูงขึ้น และไปเบียดงบลงทุนของรัฐบาล” นางแพตริเซีย กล่าว