บล.เมย์แบงก์ ชี้ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน เป็นโอกาสของหุ้น 3 กลุ่ม

25 ก.พ. 2565 | 16:23 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2565 | 23:38 น.

บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ชี้ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทวีความรุนแรงส่งผลตลาดหุ้นไทยผันผวน แต่ยังเป็นโอกาสของหุ้น 3 กลุ่ม

ทีมนักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) หรือ MST กล่าวว่า จากการที่รัสเซียเริ่มใช้ปฏิบัติการทางทหารในยูเครนหลัง ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัฐเซีย ประกาศรับรองเมืองลูฮานสก์และโดเนตสก์ให้เป็นรัฐอิสระได้ไม่นาน รัสเซียก็ประกาศสงครามและเริ่มเปิดฉากใช้ปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบในยูเครน ถือเป็นการยกระดับให้สถานการณ์มีความตึงเครียดมากขึ้น นำไปสู่ความขัดแย้งที่บานปลายระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก และอาจเป็นเหตุที่ส่งผลกระทบเชิงลบที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกและวิกฤตพลังงาน เงินเฟ้อในปัจจุบัน

 

สำหรับชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐฯและ EU ต่างก็ใช้มาตรการตอบโต้ ทั้งการคว่ำบาตรด้านการเงิน ระงับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากท่อ Nord Stream 2 และอาจยกระดับมาตรการเพื่อกดดันรัสเซียเพิ่มเติม โดยในมุมมองของทีมกลยุทธ์การลงทุน MST ให้น้ำหนักตัวแปรสำคัญที่จะมีผลกำหนดทิศทางและบทสรุปของเหตุการณ์นี้ ประกอบไปด้วย

 

  • 1.NATO ใช้ปฏิบัติการทางทหารตอบโต้
  • 2.รัฐบาลยูเครนยอมทำตามความต้องการของรัสเซีย (ไม่เข้า NATO และเสียดินแดนบางส่วน)
  • 3.มาตรการตอบโต้ของชาติตะวันตก ส่งผลกระทบซ้ำเติมวิกฤตพลังงาน
  • 4.รัสเซีย ยอมยุติปฏิบัติการหลังบรรลุจุดประสงค์ในข้อ2 หรือไม่
     

 

 

 
 

ซึ่งผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นต่อตลาดหุ้นไทยเป็นไปได้ใน 3 รูปแบบ ได้แก่

 

1) ตลาดหุ้นไทยปรับฐานแรง (หลุด 1,600 จุด): มีเหตุการณ์ที่เป็น Negative Surprise เพิ่มเติม เช่น เกิดสงคราม (NATO ตอบโต้ด้วยปฏิบัติการทางทหาร, ยูเครนไม่ยอมปฏิบัติตามความต้องการของรัสเซีย) คาด SET Index เข้าสู่รอบการปรับฐานใหญ่ ทั้งนี้ โอกาสที่จะเกิดขึ้นต่ำที่สุด หากพิจารณาจากการส่งสัญญาณที่จาก NATO บวกกับสถานะของยูเครนยังไม่ใช่หนึ่งในสมาชิก NATO

 

2) ตลาดหุ้นไทยลงต่อและใช้เวลาสร้างฐาน (1,620 จุด +/-): ชาติตะวันตกยกระดับการตอบจากชาติตะวันตกที่รุนแรงขึ้นกว่าในปัจจุบัน (เช่น กรณีคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย เป็นต้น) น่าจะส่งผลให้ SET สร้างฐานบริเวณเหนือ 1,620 จุด และค่อยๆฟื้นตัว ทั้งนี้ MST ประเมินว่ามีความเป็นไปได้สูงที่สุด  

 

3)ตลาดหุ้นไทยเริ่มเข้าสู่จุดฟื้นตัว: ยูเครนยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของรัสเซีย (ไม่เข้าร่วม NATO และอาจยอมเสียดินแดนบางส่วน) ในขณะที่มาตรการตอบโต้จากชาติตะวันตกไม่รุนแรงมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน และตลาดรับรู้แล้ว (เช่น การคว่ำบาตรทางการเงิน คว่ำบาตรรายบุคคล เป็นต้น) เช่นเดียวกับรัสเซียที่ยอมยุติปฏิบัติการทางทหารหลังบรรลุจุดประสงค์ที่ต้องการ โอกาสเกิดขึ้นปานกลาง
 

ตลาดผันผวน ยังคงมองเป็นโอกาส โดยแบ่งหุ้นออกเป็น 3 กลุ่ม

 

1.Expectation: ปรับตัวลงแรง และมีโอกาสฟื้นตัวแรง

 

·        PSL (เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 20.5 บาท) คาดอุปสงค์สินค้าแห้งเทกองยังแข็งแกร่ง สอดคล้องกับรัฐบาลจีนที่ยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ในขณะที่เรือสั่งต่อใหม่มีเพียง 6.88% ของกองเรือโลก ต่ำสุดในรอบ 20 ปี สอดคล้องกับการฟื้นตัวของดัชนีค่าระวางเรือ +58.25% MTD

·        MINT (เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 35 บาท) ราคาหุ้นอยู่ในจุดที่น่าสนใจสะสมลงทุน โดนผลกระทบเชิงลบจาก sentimentสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ในฐานะหนึ่งในหุ้นที่ดำเนินธุรกิจในยุโรป ในขณะที่แนวโน้มปี 65 น่าจะเริ่มฟื้นตัวตามสถานการณ์โควิดที่ดีขึ้น

 

2.Earnings: มีแรงหนุนจากแนวโน้มกำไรเด่น

 

·        KKP (เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 80 บาท) ตั้งเป้าปี 2565 สินเชื่อขยายตัว 12% และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อลดลงแตะ 5.1% (เทียบกับ 5.3% ในปี 64) เนื่องจากธนาคารมีแผนที่จะขยายสินเชื่อคุณภาพดีในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อองค์กร ต้นทุนสินเชื่อน่าจะลดลงเหลือ 'น้อยกว่า 220bps' ในปี 65 จาก 265bps

·        OSP (เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 41 บาท) แนวโน้มกำไรปี 2565 ได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของยอดขายเครื่องดื่มทั้งในและต่างประเทศ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และโรงงานเครื่องดื่มในเมียนมาร์จะได้ผลบวกจากอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง ส่วนโรงงานแห่งใหม่ในเมียนมาร์ซึ่งผลิตขวดแก้วจะเริ่มผลิตได้ใน 1H65

 

3.Outperformer: แข็งกว่าตลาด

 

·        ASK (เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 55 บาท) แนวโน้มพอร์ตสินเชื่อขยายตัว พร้อมกับคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น อัตราส่วน NPL Ratio ลดลง และได้แรงหนุนจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมจากการขายประกัน
JMT (เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 80 บาท) แนวโน้มกำไรปี 2565 ยังคงดีต่อเนื่อง ได้แรงหนุนจากจากการขยายพอร์ตหนี้คาดขยายตัวระดับ +50%YoY หนุนยอดเก็บเงินสดและกำไรสุทธิขยายตัวเด่น