ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “ ทรงตัว”ที่ระดับ 32.69 บาท/ดอลลาร์

14 ก.พ. 2565 | 07:42 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2565 | 16:34 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวโน้มผันผวนและอ่อนค่าลง โดยเฉพาะกรณีที่ตลาดปิดรับความเสี่ยง กรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.80 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.69 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า

 

 

นายพูน  พานิชพิบูฃย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินพลิกกลับมาผันผวนหนักในช่วงท้ายสัปดาห์จากความกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาดและความเสี่ยงที่รัสเซียจะบุกโจมตียูเครน 

 

สำหรับสัปดาห์นี้ ควรติดตามรายงานการประชุมเฟดล่าสุด และปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน/นาโต้ ซึ่งอาจส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในสัปดาห์นี้ได้

 

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 

ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนไม่ได้น่ากังวลมากนัก สะท้อนผ่านยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมกราคมที่อาจปรับตัวขึ้นถึง +2.0%m/m ทั้งนี้แนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง กอปรกับแนวโน้มเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นและอาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จะส่งผลให้เฟดสามารถใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

 

ล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 6 ครั้งในปีนี้ ดังนั้นในสัปดาห์นี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานการประชุมของเฟดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ว่าเฟดมีความกังวลปัญหาเงินเฟ้อขนาดไหน รวมถึงแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยและการลดงบดุล

 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งเรามองว่าควรติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ซึ่งสนับสนุนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมาโดยตลอดหรือไม่ได้สนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ย อาทิ John Williams ว่าจะเริ่มปรับมุมมองมาสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงเร่งตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและอาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด

 

ฝั่งยุโรป – ตลาดมองว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI Inflation) ของอังกฤษในเดือนมกราคมที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 5.4% และยอดค้าปลีกในเดือนมกราคมที่จะโตขึ้น +1.2% จากเดือนก่อนหน้า จะยิ่งหนุนโอกาสธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ BOE อาจขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมเดือนมีนาคม

 

นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) Christine Lagarde ถึงมุมมองต่อแนวโน้มเงินเฟ้อยุโรปและโอกาสที่ ECB อาจขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้ หลังจากที่ผ่านมาประธาน ECB ได้ย้ำมาตลอดว่า ECB ยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังและติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและชาติพันธมิตร NATO อย่างใกล้ชิด หลังการเจรจาล่าสุดระหว่างผู้นำสหรัฐฯและผู้นำรัสเซียยังไม่ประสบความสำเร็จในการลดความตึงเครียด ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่ความขัดแย้งอาจบานปลายสู่สงครามและกดดันให้ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงได้ อนึ่ง ควรจับตาการเจรจาระหว่างผู้นำรัสเซียกับผู้นำเยอรมนีในวันอังคารนี้ ว่าจะสามารถช่วยลดความตึงเครียดได้หรือไม่

 

ฝั่งเอเชีย – ผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนในญี่ปุ่นอาจทำให้การบริโภคในประเทศยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาสินค้าพลังงานและอาหารสด ของเดือนมกราคมที่จะลดลงสู่ระดับ -1.0% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 0.6% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าพลังงานและอาหารสดเป็นหลัก

 

ซึ่งแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังไม่ได้เร่งตัวขึ้นมากและยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะทำให้ BOJ ยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อและยังไม่มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ส่วนในฝั่งฟิลิปปินส์ แนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นอาจช่วยหนุนให้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) สามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่วนในช่วงครึ่งแรกของปี BSP จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.00% จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีหรือเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น

 

ฝั่งไทย – แม้จะไม่มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ แต่ควรติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติที่อาจผันผวนได้ในสัปดาห์นี้เนื่องจากตลาดยังคงเผชิญความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน/นาโต้ ซึ่งในกรณีรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน อาจกดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยง อาจส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและนักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทย กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง

 

 

สำหรับ  เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนและอ่อนค่าลง โดยเฉพาะในกรณีที่ตลาดปิดรับความเสี่ยง ทั้งนี้ เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก หากผู้เล่นในตลาดก็ทยอยขายทำกำไรทองคำที่อาจปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะปิดรับความเสี่ยง นอกจากนี้ เราคาดว่าผู้ส่งออกจะรอขายเงินดอลลาร์ในช่วง 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจเป็นแนวต้านสำคัญในระยะนี้ ส่วนแนวรับสำคัญยังเป็นโซน 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าปัจจัยพื้นฐานในประเทศจะฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจน

 

ส่วนเงินดอลลาร์อาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หากตลาดการเงินอาจปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนัก ในกรณีที่รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน ซึ่งภาวะดังกล่าวจะหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจได้แรงหนุนเพิ่มเติม หากรายงานประชุมเฟดล่าสุดย้ำโอกาสเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.50-33.00 บาท/ดอลลาร์

 

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.80 บาท/ดอลลาร์

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทขยับเข้าใกล้แนว 32.60 บาทต่อดอลลลาร์ฯ ในช่วงเช้านี้อีกครั้ง (แข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง) เทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา 32.70 บาทต่อดอลลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามจังหวะการปรับขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ซึ่งอาจทำให้มีแรงหนุนบางส่วนจากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของกลุ่มผู้ค้าทองคำ

 

อย่างไรก็ดีกรอบการแข็งค่าของเงินบาทน่าจะเป็นไปอย่างจำกัดในระหว่างวัน เพราะความกังวลต่อสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียยังกระตุ้นแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินเอเชียในภาพรวมอยู่ 

 

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.55-32.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยติดตามจะอยู่ที่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ ประเด็นตึงเครียดในยูเครน-รัสเซีย ถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด รวมถึงสถานการณ์โควิด-19