“คนละครึ่งเฟส4” คลัง เร่งเครื่อง รับมือโอมิครอน - สินค้าแพง

13 ม.ค. 2565 | 19:00 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ม.ค. 2565 | 00:32 น.

“สันติ” เผย คลังเร่งเครื่อง “คนละครึ่งเฟส4” เร็วขึ้น บรรเทาภาระค่าครองชีพ จากโควิด-19 ระลอก 5 และสินค้าแพง ชี้รอพิจารณางบก่อนเคาะวงเงินใส่บัตร ขณะที่คนละครึ่งเฟส 3 ส่งเงินคืนรัฐกว่า 1 หมื่นล้าน ส่วน พ.ร.ก.กู้เงิน ล่าสุดยังเหลืออีกกว่า 2.27 แสนล้าน

นายสันติ พร้อมพัฒน์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ต้องการให้ขยับโครงการ “คนละครึ่งเฟส4” เร็วขึ้น จากเดิมที่จะเริ่มโครงการในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2565 หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 5 ที่แพร่ระบาดขณะนี้ ประกอบกับราคาสินค้าหลายตัวปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มฐานราก ซึ่งได้กำชับให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ รวมถึงพิจารณาวงเงินที่จะให้ในรอบนี้ด้วย  

 

“เห็นด้วยที่จะกระชับเวลาเปิดโครงการให้เร็วขึ้น เพราะภาวะแบบนี้ควรจะมาช่วยประชาชน ผู้ซื้อและผู้ขายโดยเฉพาะระดับฐานราก ให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้เจ้าหน้ากำลังเร่งดำเนินการให้คนละครึ่งเฟส 4 มีความคล่องตัวขึ้น ดำเนินการได้เร็วขึ้น เพื่อให้เงินหมุนเข้ามาในระบบเร็วขึ้น เช่น คนที่เคยได้สิทธิอาจแค่ยืนยันตัวตนไม่ต้องลงทะเบียนใหม่”  นายสันติ กล่าว

สันติ พร้อมพัฒน์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นายสันติ กล่าวด้วยว่าจากข้อมูลการดำเนินโครงการคนละครึ่งที่ผ่านมา พบว่าประชาชนโดยเฉพาะระดับฐานรากได้ประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้จำเป็นที่ต้องเข้าไปดูแล เพราะถือเป็นเศรษฐกิจเริ่มต้น เมื่อคนกลุ่มนี้เกิดการจับจ่ายซื้อสินค้า ก็จะทำให้เศรษฐกิจระดับบนและอุตสาหกรรมทุกอย่างเกิดการหมุนตามไปด้วย

สำหรับโครงการคนละครึ่ง เฟส3 ที่ปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้สิทธิสะสม  26.35 ล้านราย จากผู้ได้รับสิทธิ  27.98 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 223,921.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 113,936 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 109,985.8 ล้านบาท 

 

ซึ่งในส่วนของโครงการคนละครึ่งเฟส 3 คงเหลือวงเงินที่ส่งคืนรัฐประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีผู้ได้รับสิทธิที่ใช้จ่ายไม่เต็มวงเงินสิทธิ 

 

โดยนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยความคืบหน้าการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติวงเงินการใช้จ่ายแล้ว 3.43 แสนล้านบาท ซึ่ง สบน.ได้ดำเนินการกู้เพื่อใช้จ่ายในการดูแลเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 แล้วจำนวน 2.73 แสนล้านบาท ทำให้ยังเหลือวงเงินที่จะใช้จ่ายได้ประมาณ 2.27 แสนล้านบาท