คนไทยแบกหนี้เฉลี่ยครัวเรือน 1.2 ล้านบาท หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลมากสุด

28 พ.ย. 2564 | 10:57 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2564 | 17:58 น.

ดุสิตโพล เผยคนไทยหนี้ท่วมเฉลี่ยครัวเรือน 1.25 ล้านบาท เป็นหนี้บัตรเครดิต - สินเชื่อบุคคล มากสุด กลุ่มก่อหนี้ส่วนใหญ่เป็นพนักงานเอกชน และราชการ ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ตกงานพุ่ง

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเฉพาะผู้ที่มีหนี้สินทั่วประเทศต่อกรณี "ภาวะหนี้สินของคนไทย" จำนวนทั้งสิ้น 1,059 คน ระหว่างวันที่ 22-25 พ.ย. 2564 พบว่า ส่วนใหญ่ประชาชนมีหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลมากที่สุด ร้อยละ 46.52 รองลงมาคือ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ร้อยละ 39.85
 

โดยมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละประมาณ 1,248,847.03 บาท  เมื่อถามถึงความสามารถในการชำระหนี้สิน มีถึงร้อยละ 71.11 คาดว่าใช้หนี้ได้ทั้งหมด  ขณะที่ร้อยละ 38.15% รู้สึกเครียดและวิตกกังวลเกี่ยวกับหนี้สินปานกลาง  ด้านพฤติกรรมของประชาชนหลังจากการมีภาระหนี้สิน จะวางแผนการใช้จ่ายให้รัดกุมมากขึ้น ร้อยละ 60.23
 

ทั้งนี้  การแก้ปัญหาต้องแก้ด้วยตนเอง มีวินัย วางแผนการใช้จ่าย อดออม ร้อยละ 80.88 รองลงมาคือ รัฐปรับโครงสร้างหนี้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 61.85 และมองว่า "ตนเอง" ที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้ ร้อยละ 89.23 รองลงมาคือ ครอบครัว คนใกล้ชิด ร้อยละ 46.33

 

ผลการสำรวจ พบว่า กลุ่มที่มีหนี้บัตรเครดิตมากที่สุด คือ พนักงานเอกชน และราชการ ส่วนกลุ่มลูกจ้าง/รับจ้างส่วนใหญ่มีหนี้น้อยกว่า 5 แสนบาท กลุ่มราชการมีหนี้ประมาณ 1 ล้านบาทขึ้นไป โดยกลุ่มลูกจ้าง/รับจ้างมีความเครียดเกี่ยวกับหนี้สินมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ อาจเป็นเพราะความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ตัวเลขคนตกงานพุ่งสูงขึ้นถึง 8.7 แสนคน ปัญหาหนี้สินจึงเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของประชาชน และก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ภาครัฐจึงควรมีมาตรการช่วยเหลือทั้งระบบ เช่น การเพิ่มรายได้ ลดค่าครองชีพ ปรับโครงสร้างหนี้ ฯลฯ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มมาก

คนไทยแบกหนี้เฉลี่ยครัวเรือน 1.2 ล้านบาท  หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลมากสุด