สำนักวิจัยจ่อทบทวนจีดีพี หลังเปิดประเทศ

05 พ.ย. 2564 | 16:11 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2564 | 00:50 น.

ลุ้นจีดีพีไตรมาส 3 ของสศช. 15 พ.ย.นี้ ก่อนทบทวนตัวเลขทั้งปีใหม่ หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มขยับตามการเปิดประเทศ “ทีทีบี-ซีไอเอ็มบีไทย-กรุงศรี” รอสัญญาณการฟื้นตัวทั้ง การบริโภค จำนวนนักท่องเที่ยว มาตรการรัฐกระตุ้นกำลังซื้อหลังเปิดเมือง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปี 2564 จากเดิมขยายตัว 1.3% เหลือ 1.0% จากก่อนหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า เศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้จะไม่หดตัว แม้จะปรับลดจีดีพีเหลือเพียง 0.7% จากเดิมที่คาดจะขยายตัว 1.8% เพราะยังมีความเปราะบางและความไม่แน่นอนสูง 

 

ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้เหลือโต 0.7-1.2% จากเดิมคาดไว้ที่ 1.5-2.5% หลังจากตัวเลขไตรมาสแรก จีดีพีหดตัวถึง 2.6% ก่อนจะกลับมาเป็นบวกที่ 7.5% ในไตรมาส 2 และจะแถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ของปีนี้ ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี(ttb analytics)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  เศรษฐกิจไตรมาส 3 น่าจะแย่สุด แนวโน้มติดลบค่อนข้างแรงและเริ่มฟื้นตัวดีในไตรมาส 4 แต่การท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเต็มที่  ซึ่งจีดีพีทั้งปีนี้ คาดว่าไม่น่าจะติดลบ โดยมองว่าจะขยายตัว 0.3-0.8% ขึ้นอยู่กับไตรมาส 3ว่า จะติดลบมากน้อยเพียงไร 

สำนักวิจัยจ่อทบทวนจีดีพี หลังเปิดประเทศ

ขณะที่ผลบวกจากการส่งออกจะถูกดึงด้วยการนำเข้าที่เร่งตัว ซึ่งต้นทุนในการนำเข้าเริ่มสูงขึ้น ไม่ว่าราคาน้ำมัน ราคาพลังงาน ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลเพิ่มขึ้น

“ช่วงที่เหลือของปีต้องดูว่า การบริโภคและการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวแค่ไหน ซึ่งเรารอดูตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ของสศช.ก่อนจะทบทวนตัวเลขประมาณการจีดีพีใหม่ โดยยังห่วงสถานการณ์สาธารณสุข เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงหลังเปิดประเทศ และราคาพลังงาน ซึ่งเรานำเข้าน้ำมันเยอะ ซึ่งจะกระทบต้นทุน ทั้งราคาดีเซลและราคาก๊าซ"นายนริศกล่าว 

 

โดยเฉพาะราคาดีเซลที่จะกดดันต้นทุนให้ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจเติบโตไม่แรง  อย่างเช่นราคาน้ำมันสำเร็จรูป ถ้าเพิ่มขึ้น 25% จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้กำไรของภาคธุรกิจที่ใช้พลังงานหรือน้ำมันลดไป 2-10% และหากภาคธุรกิจเลือกที่จะส่งผ่านต้นทุนเหล่านี้ให้ผู้บริโภค จะทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น

 

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจ ซีไอเอ็มบีไทยให้น้ำหนักเรื่องการเปิดเมือง เพราะเป็นสัญญาณด้านจิตวิทยาหรือ Sentiment ที่ดีต่อบรรยากาศ ความเชื่อมั่นที่จะทำให้คนกล้าเดินทาง กล้าจับจ่ายใช้สอย ซึ่งธนาคารยังไม่ปรับจำนวนนักท่องเที่ยวใหม่ แม้จะมีการเปิดประเทศ เพราะยังมีขั้นตอนอีกมากไม่ถึงกับทำให้เศรษฐกิจฟื้น  

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนกันยายนของธปท.สอดรับกับประมาณการของธนาคาร เช่น การลงทุนภาคเอกชน หรือ การผลิตที่เร่งตัวขึ้นได้สอดคล้องตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังกังวลการบริโภคเอกชนที่ฟื้นตัวช้า แม้จะบวกจากเดือนสิงหาคม แต่ติดลบเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ฉะนั้นช่วงที่เหลือของปี ยังมองการบริโภคเอกชนติดลบ ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงแม้ว่า บรรยากาศจะดีขึ้นหลังการเปิดเมืองก็ตาม

 

“จะรอดูการฟื้นตัว 3เรื่องคือ ตัวเลขไตรมาส 3 ของสศช.ในวันที่ 15 พ.ย.นี้ ซึ่งเรามองสัญญาณการฟื้นตัวไม่ค่อยดี ทั้งติดลบ 2.3% ช่วงไตรมาสก่อนหน้า หลังปรับฤดูกาล และติดลบ 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยากดูว่า ไตรมาสต่อไตรมาสไม่ได้ติดลบอย่างที่เราคาดหรือไม่ 2. จำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่ง Sentiment ยังน่ากังวลว่า นักท่องเที่ยวจะกลับมามากหรือเปล่า หรือจะกลับมาติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งน่าจะชัดเจน หลังจากเปิดเมืองได้สองสัปดาห์"

 

ส่วนปัจจัยที่ 3 คือ การใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งให้น้ำหนักค่อนข้างมาก เพราะปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว นอกจากป้องกันการระบาดได้จนเปิดเมืองได้เร็วแล้ว สิ่งสำคัญคือ มาตรการภาครัฐออกมาสนับสนุนเศรษฐกิจมาก ไม่ว่ามาตรการพยุงกำลังซื้อ แจกเงิน หรือการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างชัดเจน แต่ปีนี้ค่อนข้างจะน้อย ทำให้คนไม่กล้าใช้ สิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้ เป็นเรื่องประคองค่าครองชีพ แต่ยังไม่มีมาตรการกระตุ้นการบริโภคอย่างเร่งด่วน

 

"หลังเปิดเมืองปีนี้ น่าจะเห็นคนใช้จ่าย กระตุ้นกันเต็มที่  แต่รอบนี้คนอั้นการใช้จ่ายหรือ Pent-Up Demand ค่อนข้างจะน้อย แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่ยังถือว่ามาก จึงต้องดูว่าภายในสองสัปดาห์มาตรการทางการคลังจะวางแผนหรือออกมากระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีนี้แค่ไหน”นายอมรเทพกล่าว 

 

ในส่วนของซีไอเอ็มบีไทยมองว่า คนมีเงินไม่ยอมใช้จ่าย ที่มียังเป็นกำลังซื้อระดับล่าง ซึ่งมีหนี้ รายได้น้อยเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สมดุลและไม่ทั่วถึง สิ่งที่เสนอคือ งานแลกเงิน ส่วนระดับกลางระดับบนสร้างแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อระดับกลางบนบนความเหมาะสมกับงบประมาณทางการคลังยังมีจำกัด โดยเรามองทั้งปีจีดีพีขยายตัว 0.4% และส่งออกประมาณ 12%

 

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ธนาคารยังมองเศรษฐกิจไทยมีโอกาสอัพไซส์จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุม แม้จะเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดไว้ประมาณปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า แต่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มไม่มากคือประมาณ 2 แสนคนจากเดิมมองไว้ที่ 1.5 แสนคน เพราะเหลือเวลาไม่มากและประเทศต้นทางยังมีข้อจำกัดทั้งสหรัฐ และจีน 

สำนักวิจัยจ่อทบทวนจีดีพี หลังเปิดประเทศ

อย่างไรก็ตาม ประเมินจีดีพีปีนี้ ยังยืนตัวเลขการเติบโตที่ 0.6% และการส่งออกยังเป็นพระเอก โดยมองขยายตัวได้ 15%  ซึ่งเดือนกันยายนเครื่องชี้ขยับขึ้นทั้งการส่งออก การลงทุน ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงสอดคล้องจากคาดการณ์ที่ผ่านมา ส่วนเงินเฟ้อและการส่งต่อต้นทุนยังมีเครื่องมืออุดหนุนจากกองทุนน้ำมันและนโยบายการเงินยังไม่น่าจะปรับได้เร็ว 

 

สำหรับปีหน้า โจทย์จะยากขึ้นใน 3 เรื่องคือ 1.ภูมิรัฐศาสตร์ 2.การเมืองระหว่างประเทศ กรณียักษ์ใหญ่ต่างประเทศต่อสู้กันอยู่อาจมีการแยกซัพพลายเชน ซึ่งจะเป็นความท้าทายต่อไทยในการเลือกข้างหรือจะเดินยุทธศาสตร์ในการมีส่วนร่วมการผลิตสินค้าของโลกได้อย่างไร หากประเทศยักษ์ใหญ่จะมีการแยกวง  และ 3.ปัจจัยการเมืองในประเทศ

 

“ธนาคารจะทบทวนประมาณการจีดีพีหลังสศช.ประกาศตัวเลข 3 สัปดาห์โดยอาจจะปรับคาดการณ์จีดีพีปีหน้าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันคาดไว้ที่ 3.0% โดยเรามองจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มเป็น 5ล้านคนในปีหน้า  จากปีนี้คาดไว้ 2.5ล้านคน แต่ยังมีความท้าทาย 3เรื่องและนักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาได้เมื่อไหร่”นายสมประวิณกล่าว 

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,728 วันที่ 4 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564