KTAM ชวนนักลงทุนวางแผนภาษี โค้งท้ายปี

02 พ.ย. 2564 | 18:21 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2564 | 01:21 น.

KTAM แนะลงทุนควบวางแผนจัดการภาษี โค้งท้ายปี 2564 แนะ 3 สิ่งสำคัญต้องรู้ "รายได้ ค่าใช้จ่าย และ ค่าลดหย่อน" ชูกองทุนยอดฮิตในการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีกองทุนกลุ่มมั่ง มี ศรี สุข เพื่อการออม (SSF) และเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า เข้าสู่ช่วงโค้งท้ายปี 2564  นักลงทุนควรต้องเริ่มเตรียมตัวและวางแผนการจัดการภาษีเงินได้ประจำปีกันแล้ว โดยสิ่งสำคัญคือ ต้องรู้รายได้ ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนจะต้องพิจารณาวางแผนอย่างเหมาะสม คือ การลงทุนควบคู่กับการวางแผนจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย จำกัด (มหาชน)

 

ปี 2564 จะมีความพิเศษกว่าปีก่อนๆ เล็กน้อย เพราะปีนี้จะไม่มีกองทุน LTF(Long Term Equity Fund)ให้เลือกเหมือนปีก่อนๆ แต่จะมีทางเลือกใหม่ในการลงทุน คือ กองทุนประเภท SSF (Super Saving Fund)  มาแทนที่ ซึ่งในภาพรวมของการวางแผนจัดการภาษีนั้น การลงทุนผ่านกองทุนยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเนื่องจากสามารถลงทุนได้ในวงเงินที่มากและยังสามารถรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้สูงสุดถึง 500,000 บาท 

บลจ.กรุงไทย มีปรัชญาและแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการสร้างวินัยการออม การลงทุนที่ดี และการวางแผนภาษีที่ถูกต้อง เพื่อให้นักลงทุนมีสุขภาพทางการเงินที่ดี เพียงพอที่จะรองรับกับสถานการณ์ไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งช่วงที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า นักลงทุนที่มีวินัยที่ดีสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินได้ดีกว่าเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤต

 

สำหรับกองทุนที่ KTAM  แนะนำคือ กองทุนกลุ่มมั่ง มี ศรี สุข เพื่อการออม (SSF) และเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งกองทุนกลุ่มดังกล่าวมีข้อดีด้านการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) ในหลายสินทรัพย์ทั่วโลก ผ่าน Fund of Funds ภายใต้บริษัทจัดการกองทุน โดยมีกลยุทธ์การลงทุนมุ่งหวังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management) สามารถตอบโจทย์การลงทุนในรูปแบบของการกระจายความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในสิ่งที่นักลงทุนกังวลคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 จบหรือยัง? การเปิดประเทศจะก่อให้เกิดการระบาดรอบใหม่ และเศรษฐกิจจะหยุดชะงักอีกหรือไม่? ประเด็นความผันผวนเหล่านี้ทำให้นักลงทุนมีความกังวลต่อการลงทุนเนื่องจากยังไม่แน่ใจว่าการลงทุนในช่วงนี้เป็นจังหวะที่เหมาะสมหรือยัง ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ เช่นนั้น การลงทุนโดยการจัดสรรเงินลงทุนแบบ Asset Allocation ที่เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายจะช่วยกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวนได้

 

ปัจจุบันกองทุนกลุ่มมั่ง มี ศรี สุข เพื่อการออม และเพื่อการเลี้ยงชีพ ประกอบด้วย 4 กลุ่มกองทุนย่อย ที่เน้นการกระจายน้ำหนักการลงทุนให้เหมาะสมกับวัฏจักรเศรษฐกิจระยะยาว โดยผู้จัดการกองทุนสามารถปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนได้ตามความเหมาะสม สอดคล้องกับการลงทุน ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยมั่งคั่ง SSF/RMF (KTMUNG SSF/RMF) กองทุนเปิดกรุงไทยมีทรัพย์ SSF/RMF (KTMEE SSF/RMF) กองทุนเปิดกรุงไทยศรีสิริ SSF/RMF (KTSRI SSF/RMF) และ กองทุนเปิดกรงไทยสุขใจ SSF/RMF (KTSUK SSF/RMF) 

 

KTAM ชวนนักลงทุนวางแผนภาษี โค้งท้ายปี

กองทุน SSF (Super Saving Fund) เป็นกองทุนที่ส่งเสริมการออมระยะยาว และกองทุน RMF (Retirement Mutual Fund) เป็นกองทุนที่ส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุ โดย SSF สามารถซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลาลงทุนคือ10 ปีนับจากวันที่ซื้อ

 

ส่วน RMF (Retirement Mutual Fund) สามารถซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปีและไม่เกิน 500,000 บาท ระยะเวลาลงทุนคือ ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากวันลงทุนครั้งแรก และถือจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์

 

นอกจากนี้ กองทุน SSF และ RMF เมื่อรวมจำนวนเงินที่ซื้อกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ แล้วสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กอช. ประกันบำนาญ